ขึ้นชื่อว่าผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน หรือผู้นำด้านไหน ๆ ต่างก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงไม่น้อย เมื่อต้องเผชิญกับมหาวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้
แม้จะไม่มีใครรับรู้ล่วงหน้าและเตรียมพร้อมมาก่อน แต่นี่คือโอกาสที่ผู้นำจะได้ทบทวนอนาคตของมนุษยชาติ
และเป็นเวลาดีที่จะต้องตรวจสุขภาพของตัวเองด้วยว่า จะฝ่าวิกฤติไปได้อย่างไร
สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เพิ่งออกชุดความคิดล่าสุด คล้าย ๆ เป็นคู่มือให้บรรดาผู้นำทั่วโลก หันมาพิจารณาว่าในวิกฤติครั้งนี้ พวกเขาควรเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อดำเนินชีวิตต่อไป
รวมถึง…
กำหนดระบบเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนายั่งยืนอย่างไร
ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อโลกใบนี้
ธรรมชาต สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า จะอยู่อย่างไรต่อไป
หากเกิดวิกฤติรอบใหม่จะรับมืออย่างไร ท่ามกลางวิกฤติ สิ่งที่สภาเศรษฐกิจโลก รวมถึงคนไทยทุกคนปรารถนาอยากเห็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนำมาใช้มีหลายแง่มุม เช่น
เราต้องการความร่วมมือระดับโลกมากขึ้น
ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพ โควิดได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ แม้กระแสชาตินิยมเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และการสนับสนุนกันและกันจะลดลง
แต่องค์กรระหว่างประเทศ จะยังคงเป็นเครื่องมือในการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมารวมกัน แล้วทุกส่วนทำงานไปทิศทางเดียวกัน
บางส่วนของแนวคิดนี้เริ่มเห็นในสังคมไทย ภาคเอกชนและองค์กรที่เป็นสากลอย่าง UNDP ได้เข้าไปฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และรณรงค์ให้ชุมชนรักษาสภาพแวดล้อม
แต่ความร่วมมือระหว่างผู้บริหารประเทศ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มสาธารณสุข ยังทำงานไม่สอดประสานกัน ส่วนหนึ่งก็นำมาสู่การระบาดรอบที่สองอย่างที่เห็น
สุขภาพโลกต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ดังที่เราได้เห็นโดยตรงแล้ว ไวรัสไม่มีพรมแดนและไม่สนเรื่องใด ๆ มันยังคงเดินหน้าแพร่ระบาดไปเรื่อย ๆ จึงต้องมีแนวทางแก้ไขที่ไปด้วยกันทั่วโลก
ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศ ของทุกรัฐบาล และผู้นำทุกส่วน คนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจ ให้ความร่วมมือปกป้องสังคม หยุดแพร่เชื้อโรคให้ได้ เพื่ออนาคตที่สดใสในวันข้างหน้า
หากยังเพิกเฉยต่อปัญญาสุขภาพของประเทศ วิกฤติครั้งนี้จะยืดเยื้อออกไปอีก
ตัดสินใจบนข้อมูล
สำหรับผู้นำ การตัดสินใจใด ๆ ต้องมีข้อมูลมากเพียงพอ เพราะการตัดสินใจที่ดีที่สุด ควรมาจากการมีแหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด
โลกของเราควรถูกปกครองด้วยข้อเท็จจริงมากกว่าข่าวลือหรือตำนาน แต่เราก็ได้เห็นรัฐบาลบางประเทศ ตอบสนองต่อวิกฤติโควิด-19 แบบผิด ๆ นำผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจและสังคม
ภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการกำหนดการตัดสินใจดีที่สุดในช่วงวิกฤติ ผู้นำควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนของตัวเองให้เร็วที่สุด แค่ทำให้คนทั่วไปแยกแยะได้ว่าข้อมูลใดมีหรือไม่มีประโยชน์ หากทำได้ก็ถือว่าอยู่เหนือวิกฤติแล้ว
สุขภาพและเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน
เพราะสุขภาพของประชากรเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แม้ตอนนี้ทุกประเทศ ทุกรัฐบาลกังวลว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากการระบาดของโรคต่อเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน แต่คาดการณ์ต้นทุนจะอยู่ประมาณ 8% ของ GDP
สิ่งที่มักลืมไปคือ หากสุขภาพของประชากรไม่ดี จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นสองเท่า เนื่องจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการสูญเสียศักยภาพของแรงงาน
มองมาที่แรงงานคนไทย แม้กระทั่งแรงงานต่างชาติ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผู้นำประเทศควรเริ่มวางรากฐานใหม่ ให้เศรษฐกิจและแรงงานฟื้นตัวและเดินไปพร้อม ๆ กัน
ลงทุนการศึกษาเพื่ออนาคต
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ น่าจะรวมถึงประเทศไทยเราด้วย
และได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับกลยุทธ์การศึกษาใหม่ ๆ ที่จะต้องเพิ่มเงินทุนในการศึกษาและพัฒนาการศึกษาที่มุ่งเพื่ออนาคต
การเปลี่ยนไปใช้ห้องเรียนเสมือนจริงอย่างรวดเร็วช่วยให้เด็ก ๆ หลายคนทั่วโลกต้องรอด แต่ข้อเสียคือผู้ที่อาศัยอยู่มีความยากจนหรือในพื้นที่ที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี
ดังนั้น ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาในอนาคต จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ หลักสูตรควรเน้นเรื่งการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อให้พลเมืองในอนาคตมีความพร้อมอย่างเพียงพอที่จะกลั่นกรองข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงสามารถตีความข้อมูลได้
การสื่อสารต้องดีขึ้น
ในหลาย ๆ ประเทศ วิกฤติข่าวสารเลวร้ายพอ ๆ กับโรคระบาด การบริการจัดการข่าวสารที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญในยามวิกฤติ
ทุกวันนี้ ข่าวปลอมระบาดไปทั่วไม่ต่างจากโควิด แต่ใครละจะแก้ปัญหานี้ได้ ก็ต้องเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน หรือผู้นำด้านไหน ๆ ก็ต้องช่วยกัน
ในอนาคตไม่ช้าไม่นาน เราจะได้ย้อนกลับมามองว่าผู้นำของเราได้ทำอะไรให้กับสังคมหรือไม่ ต้องรอดู
Category: