เมื่อภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ เป็นปกติที่เราทุกคนจะจดจ่อติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นเพราะเรื่องแบบนี้ “ไม่ไกลตัว” ในแง่ของความรู้สึกที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของเราและโลกที่เราอยู่อาศัย

เวลานี้สถานการณ์ไวรัสโคโรนา หรือไวรัสอู่ฮั่น จากประเทศจีนกำลังได้รับความสนใจทั่วโลก เพราะจำนวนคนติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตไปแล้วก็มี แถมยังมีคนติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อให้คนอื่นป่วยจนตายได้อีกต่างหาก ซึ่งถือว่าเป็นโรคระบาดที่น่ากลัวไม่น้อย

ข่าวลือเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้จึงมีมาเรื่อย ๆ บ้างก็ชวนให้อกสั่นขวัญแขวนราวกับว่ามีคนตายจากเชื้อไวรัสอู่ฮั่นไปแล้วค่อนโลก และไม่วันนี้พรุ่งนี้ เราที่นั่งอยู่กับบ้านคงต้องติดเชื้อจนตายไปด้วยแน่ ๆ บ้างก็เป็นข่าวจากทุ่งลาเวนเดอร์ประเภท ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก เชื้อนี้กระจอกมากเมื่อเทียบกับเชื้อโรคอื่นก่อนหน้านี้ และทุกอย่างที่ชั่วร้ายมาเมืองไทยแพ้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หมด รับประกัน เป็นต้น

passion gen เคยเสนอวิธีพิจารณาข่าวจริงข่าวปลอมไปแล้ว แต่วันนี้จะบอกกันแบบ how to เลยว่า เราที่เป็นคนทั่วไปจะมีขั้นตอนในการประเมินข่าวจริงข่าวปลอมอย่างไร และควรรับมือสถานการณ์แบบไหน

1. หัดคิดแบบวิพากษ์

แรกสุดเลยคือ พยายามพัฒนาวิธีคิดของเราให้เป็นการคิดแบบ “วิพากษ์” หรือมี critical mindset เหตุผลหนึ่งที่ข่าวปลอมอยู่ได้ก็เพราะมัน “ดูน่าเชื่อถือ” ในแง่ที่ทำให้เราเกิดความตระหนกตกใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งในแง่จิตวิทยาคือ เราใช้อารมณ์ตอบสนองกับข่าว ดังนั้น ต่อไปต้องตั้งสติว่า เมื่อเห็นข่าว ให้ดูและฟังด้วยเหตุผลและตั้งคำถาม เช่น ถามตัวเองว่า ทำไมข่าวนี้ถึงเสนอออกมาแบบนี้ ต้องการจูงใจเราให้มีความคิดอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษไหม หรือจะขายอะไรเรา หรืออยากให้เราเข้าไปคลิกดูอะไรต่อที่เว็บอื่นไหม เป็นต้น

2. ตรวจสอบที่มาของข้อมูล

ถ้าไม่มีแหล่งที่มาของข้อมูล หรือให้แหล่งข้อมูล/เว็บไซต์ชื่อแปลก ๆ เกิดมาไม่เคยได้ยิน หรือมีตัวสะกดแปลก ๆ ให้สืบค้นก่อนเลยว่าใครทำข้อมูลนั้นขึ้นมา ยิ่งเป็นเว็บไซต์ยิ่งตรวจสอบง่ายจาก URL และถ้าข้อมูลมาจากคนชื่อคุ้น หรืออ้างว่าคนที่เราคุ้นชื่อให้ข้อมูล ก็ต้องตรวจสอบว่าบุคคลที่ว่านั้นเชี่ยวชาญในเรื่องใด

3. ตรวจสอบว่ามีสำนักข่าวอื่นซึ่งเป็นสำนักข่าว “ที่ได้รับการยอมรับ” เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่

วิธีนี้เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป แต่มีข้อพึงระวังว่า ควรตรวจสอบจากหน้าโฮมเพจของสำนักข่าวเอง เพราะบางครั้งคนแพร่ข่าวปลอมก็ปลอมกระทั่งลิงค์ข่าวที่ลอกแบบมาจากของจริง

4. ตรวจสอบหลักฐาน

ข่าวที่เชื่อถือได้จะให้ข้อมูลครบและรอบด้าน รวมถึงความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงตัวเลขและสถิติที่เป็นทางการ มีหลักฐานอ้างอิง ถ้ามาลอย ๆ หรือที่เห็นส่งเผยแพร่กันทางออนไลน์ว่า “เพื่อน” บอกมา ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือข้อมูลและสถิติที่เป็นทางการจะถูกเป๊ะตลอดกาล แต่แปลว่า ณ เวลานั้น มีผู้เชี่ยวชาญที่ระบุชื่อและตำแหน่งได้ ให้ความเห็นต่อสาธารณะผ่านสื่ออย่างนั้นจริง และมีตัวเลข/สถิติอ้างอิงอย่างนั้นจริง

5. ตรวจสอบภาพปลอม

ในบรรดาข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสอู่ฮั่น มีคลิปและภาพปลอมจำนวนมากที่อ้างว่ามาจากเมืองจีน ต้องพิจารณาให้ดี หรือวิธีง่ายที่สุดคือใช้ Google Reverse Image Search ซึ่งอาจทำให้เราพบว่า ภาพที่กำลังแชร์กันอยู่เป็นภาพจากเหตุการณ์อื่นเมื่อห้าปีที่แล้ว เป็นต้น

6. ใช้สามัญสำนึกช่วยคิดว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่

สามัญสำนึกอาจฟังดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ที่สุดแล้วเราก็ต้องใช้สามัญสำนึกด้วย โดยเข้าใจว่า ข่าวปลอมส่วนใหญ่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะความกลัวและความอคติ และข่าวปลอมมักมีความจริงอยู่ด้วย เพียงแต่บอกความจริงไม่หมด หรือ “บิด” ความจริงไปในทางที่อาจทำให้เข้าใจไปอย่างอื่น

เราจำเป็นต้องลดความสำคัญของข่าวปลอม และไม่ช่วยเผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง เพราะการทำให้ทั้งสังคมตกอยู่ในกับดักข่าวปลอม คือการทำลายการเรียนรู้และทำให้สมองไม่พัฒนา ซึ่งหมายถึงการทำลายความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

 


บททดสอบ

เนื้อหาจากข้อความต่อไปนี้ ท่านคิดว่าข้อใดเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ด้วยสาเหตุใด ผู้บริโภคสื่อทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มได้หรือไม่ อย่างไร

  1. เพื่อนหมอบอกมาว่า สถานการณ์ไวรัสอู่ฮั่นทั่วโลกขณะนี้ คือสงครามจิตวิทยา และประเทศไทยของเรากำลังตกเป็นเหยื่อตามวิสัยเจ๊กตื่นไฟ ไทยตื่นข่าว ลาวตื่นยศ แผ่นดินไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ไวรัสไหน ๆ เข้ามาก็ตายเรียบไม่เหลือ
  2. เพื่อนหมอบอกมาว่า โรคกระจายเร็วแต่ไม่อันตราย คล้ายกับไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ต่าง ๆ ที่ระบาดอยู่ทุกปี ประเทศจีนสมัยนี้ก้าวหน้ามาก การระบาดจะลดลงในเร็ว ๆ นี้แน่นอน
  3. ศาสตราจารย์เดวิด ฟิสแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ว่า ถ้าพิจารณาจากวงจรชีวิตของไวรัส การแพร่ระบาดของเชื้อจะยังไม่หมดภายในสิ้นเดือนนี้หรือแม้แต่เดือนหน้า “ยิ่งเราศึกษาอุบัติการณ์ของการแพร่ระบาดมากขึ้น เรายิ่งเห็นความคล้ายคลึงของมันกับไวรัสซาร์สซึ่งเราควบคุมได้แล้วและเราหวังว่าจะควบคุมไวรัสอู่ฮั่นได้เช่นกัน แต่ยังตอบแน่นอนไม่ได้ว่าเมื่อใด”
  4. ขณะนี้การทำวัคซีนรักษาโรคจากเชื้อไวรัสอู่ฮั่น ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่มีอะไรน่าห่วง
  5. รายการ Coronavirus Q&A สัมภาษณ์ น.พ.ปีเตอร์ ลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชุมชนและโรคระบาดจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ออกอากาศทาง CNBC เมื่อวันที 26 มกราคม 2562 สรุปความได้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือรักษาโรคนี้ มีเพียงรักษาไปตามอาการเช่น ขาดน้ำ ให้กินน้ำ ไตล้มเหลวรักษาที่ไต แล้วรอจนกว่าร่างกายจะสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อต้านได้เองเหมือนเมื่อเป็นหวัด แต่เด็กและคนแก่จะสร้างแอนตี้บอดี้ได้ช้าจนไม่ทันต่อการแพร่กระจายของโรค
  6. ความไม่เชื่อมั่นในข้อมูลจากจีนซึ่งดูเหมือนไม่ตรงไปตรงมา เช่น บอกว่ามีคนป่วยตายจากไวรัสอู่ฮั่นไม่มากแต่กลับสั่งปิดเมืองแล้วเมืองเล่ารวมถึงเร่งสร้างโรงพยาบาลฉุกเฉินหลายแห่ง อีกทั้งข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกซึ่งเผยแพร่ในสื่อของจีน https://chinamediaproject.org/2020/01/27/dramatic-actions/ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าว่า ทางการจีนสั่งปิดข่าวแม้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจะพบการติดไวรัสตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และ ฯลฯ อื่น ๆ ส่งผลต่อการเตรียมการรับมือของประเทศต่าง ๆ และทำให้เกิดความวิตกในวงกว้างว่า สถานการณ์จริงน่าจะร้ายแรงกว่าที่ทางการจีนเปิดเผย

Category:

Passion in this story