อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2021 ซึ่งน่าจะเป็นอีกปีที่ท้าทายสุด ๆ สำหรับคนไทยและสังคมไทย เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่จางหาย ขณะที่คนทั่วโลกยังคงเผชิญโรคร้ายนี้ต่อไปอีก
สำหรับคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ติดตาม passion gen มาตลอดทั้งปี คงได้เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ปีใหม่กันบ้างแล้ว
แต่อาจจะยังมีบางอย่างที่มองข้ามไป วันนี้จึงมีแนวคิดดี ๆ มาฝาก โดยเฉพาะในเรื่องการทำงาน การวางแผนการเงิน และการใช้ชีวิต
อย่างแรกเลย บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย ได้ออกมาเตือนแล้วว่า คนที่ตกงานจากพิษโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปี 2020 อาจจะตกงานต่อไป เพราะธุรกิจหลายอย่างยังไม่ฟื้นตัว เช่น สายการบิน ท่องเที่ยว สถานบันเทิง กิจการก่อสร้าง เป็นต้น
ส่วนคนที่มีงานทำอยู่แล้ว คาดว่าปีหน้าเงินเดือนอาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 5% แต่บางคนอาจต่ำกว่านั้น อันนี้เป็นข้อมูลจากผลการสำรวจของ บริษัท เมอร์เซอร์ (Mercer) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการพนักงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ สำหรับพนักงาน การเกษียณอายุ และการลงทุน **ย้ำว่านี่เป็นตัวเลขคาดการณ์
ผลสำรวจยังพบว่า 22 บริษัทจาก 577 แห่ง ไม่มีการขึ้นเงินเดือนในปี 2563 โดยค่ากลางของอัตราการขึ้นเงินเดือนของปี 2563 ปรับลดลงอยู่ที่ 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4.8% จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่อัตราการขึ้นเงินเดือนต่ำกว่า 5% **ย้ำว่านี่เป็นตัวเลขคาดการณ์เช่นกัน
แต่สำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทอาจมีการขึ้นเงินเดือน เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตและอุปกรณ์การโลจิสติกส์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม
ส่วนอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด น่าจะขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุดเพียง 2.5% เท่านั้น
เมอร์เซอร์ยังส่งสัญญาณด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงอยู่ในสถานะที่ต้องเฝ้าระวัง และจับตาสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
รวมไปถึงการทบทวนเงินเดือนและค่าตอบแทน ที่จะต้องแบกรับในปี 2021 แม้บริษัทต่าง ๆ จะรู้ดีว่า เทคโนโลยีสามารถทดแทนคนจริง ๆ ได้ แต่ก็ยังมีบางสาขาที่ยังไม่สามารถทำได้
สรุปคือ ทุกคนควรเตรียมตัวเตรียมใจกันไว้บ้างก็ดี เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น ตราบใดที่สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ยังไม่สงบลง อนาคตทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง ต่างแขวนอยู่บนความเสี่ยงไม่ต่างกัน
ในอีกแง่มุมหนึ่ง วิกฤตครั้งนี้ได้ผลักดันคนรุ่นใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ให้ก้าวเข้าสู่โลกเทคโนโลยีเต็มตัว ไม่ว่าเขาและเธอจะชอบหรือไม่ก็ตาม
เพราะหากมีทักษะด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะทักษะเฉพาะด้าน ยิ่งมีโอกาสมาก จะช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AI) และราชบัณฑิต กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบราว 72% ไม่สามารถหางานได้ เพราะขาดทักษะที่จำเป็นในยุคนี้
ความจริงไม่เฉพาะกลุ่มแรงงานที่ต้องมีทักษะใหม่ ๆ ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน หรือไม่ก็กระโดดเข้าสู่กระแสเทคโนโลยีซะเลย รวมไปถึงการบริหารจัดการการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น
สำหรับคนรุ่นใหม่และคนทำงานทั้งหลาย อาจจะต้องหมั่นตรวจสอบดูรอยรั่วทางการเงิน ที่เกิดจากการใช้จ่ายของตัวเอง ว่าฟุ่มเฟื่อยหรือเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะสถานการณ์การทำงานยังไม่มั่นคงพอ
อีกอย่างที่ควรพิจารณา คือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หากเกิดเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงค่าใช้จ่าย หากมีการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น ควรซื้อประกันโควิดเป็นกรณีพิเศษ
ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ ครั้งนี้ ก็ยังมีธุรกิจเกิดใหม่และร่ำรวยแบบก้าวกระโดดมากมาย เช่น ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ บริหารผลิตและส่งอาหารตามบ้าน การแพทย์และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพที่เพิ่มนวัตกรรมเข้าไป เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับสังคมไทยแล้ว หากเก่งเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีความสามารถอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งเป็นความสามารถที่เป็นตัวตนและอยู่ภายในของแต่ละคน
เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกตัวเองหรือคนอื่น วิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การติดสินใจ การเข้าสังคม และความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถกำหนดได้ในระยะสั้น ต้องใช้เวลาบ่มเพาะจากครอบครัว สถานบันการศึกษา สังคม และคนรอบข้าง ตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่
ความจริงแล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมายาวนาน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ความสำคัญ และช่วยกันยกระดับความสามารถภายในของคน เพื่อส่งต่อแรงงานคุณภาพออกสู่ตลาดต่อไป
โชคดีตลอดปี 2021 ครับ
Category: