ถึงวันนี้ผลประมูลคลื่นความถี่ 5G ครั้งประวัติศาสตร์ได้ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อย  ในครั้งนี้รัฐมีเงินเข้าประเป๋ากว่า 1 แสนล้านบาท และหากนับรวมการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ 3G 4G และ 5G แล้ว กสทช. ทำเงินเข้ารัฐจากการประมูลคลื่นความถี่ได้กว่า 560,713 ล้านบาท…

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าการประมูล 5G จะฃ่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ กว่า 177,039 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1.02% ของ GDP

แต่ทราบหรือไม่ว่า ราคาประมูลคลื่นความถี่ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงบ้านเรา) โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากร

รายงานเรื่อง Spectrum pricing in developing countries Evidence to support better and more affordable mobile services ที่ออกโดย สมาคม GSMA ระบุว่า ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ ภายใต้เป้าหมายของการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ และการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ในราคาที่สูงของโอเปอเรเตอร์ มีผลโดยตรงกับการให้คุณภาพและราคาในการให้บริการอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับคลื่นความถี่ในฐานะทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ช่วยเสริมสร้างรากฐานของภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน จึงให้โอเปอร์เรเตอร์นำไปจัดสรรในต้นทุนที่ต่ำ ภายใต้ข้อกำหนดของอัตราค่าบริการที่ไม่สูง  เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายที่สุด

หลายคนอาจจะแย้งว่า…ปัจจุบันอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเราก็ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นก็ถูกต้องครับ แต่หากค่าบริการถูกกว่าที่ใช้งานในปัจจุบันจะดีหรือไม่…

ข้อมูลจาก รายงานสภาพตลาดโทรคมาคม ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ที่ออกโดยสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ปัจจุบัน Mobile Broadband หรือ อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ มีอัตราค่าบริการอยู่ที่ 0.17 บาท/MB เพิ่มขึ้น 0.02 บาท/MB จากไตรมาส 3 ปี 2561 โดยค่าบริการนี้ยังไม่รวมต้นทุนของโอเปอเรเตอร์ที่จะเกิดขึ้นจากการประมูลคลื่นความถี่ 5G

เงินลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของโอเปอเรเตอร์ ที่มีผลต่อคุณภาพและการกำหนดค่าบริการ หากโอเปอร์เรเตอร์ สามารถเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ในต้นทุนที่ต่ำลง ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ให้ดีขึ้นในอัตราค่าบริการที่ต่ำลงได้

ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้าบริการอินเทอร์เน็ตมีอัตราค่าบริการที่ 0.10-0.12 บาท/MB จะดีแค่ไหน…ปริมาณการใช้งาน content ดูหนัง ฟังเพลง ส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเท่าไร อัตราการครอบคลุมพื้นที่และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรจะเป็นอย่างไร

ในขณะที่เราคาดหวังว่า ประชากร 100% จะสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่วันนี้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และคนในพื้นที่ห่างไกล กลับไม่สามารถทำได้… เป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศ



Passion in this story