สมัยเป็นนักเรียน นักศึกษา เราได้รับความรู้มากมายจากครูอาจารย์ เช่นเดียวกับชีวิตจริง เราเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเราเอง
หลายคนมีคติประจำตัวในการใช้ชีวิต คือ การเรียนรู้จากสิ่งไม่ดี นั่นหมายถึง การมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่ไม่ถูกใจเรา หรือเรื่องแย่ ๆ ที่เข้ามาปะทะเรา
มองในมุมใหม่แล้วทำให้เป็นเรื่องดีให้ได้
ขอเปรียบเปรยสิ่งนี้ว่า “อ่านหนังสือเลวให้เป็นประโยชน์” หรืออาจจะพูดอีกอย่างว่า เมื่อเจอเรื่องราวใด ๆ โดยเฉพาะเรื่องลบ ก็ขอให้มองไปอีกด้านหนึ่งเผื่อจะเป็นประโยชน์กับตัวเรา ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง บางคนไม่สามารถทำได้เลยก็ตามที
เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ก็ยังดีที่ได้รู้ว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ดีอย่างไร
ในเวลานี้ ตอนนี้…คนไทยและผู้คนทั่วโลก กำลังประสบเรื่องแย่ ๆ พร้อมกันนั่นคือ การระบาดของโควิด 19 และยังต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจตกต่ำอีก แล้วเราจะได้บทเรียนอะไรบ้าง จากสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายอยู่ในขณะนี้
passion gen มีคำแนะนำเบา ๆ มาให้ลองฝึกกันดูว่า เราจะพลิกเรื่องแย่ ๆ ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงปรับจูนแนวคิดใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังรอเราอยู่เบื้องหน้า
เริ่มจากหากต้องกักตัวหรือทำงานอยู่กับบ้าน สิ่งแรกที่ทำได้เลยโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย คือ การรักษาความจำและสมองของเราให้อยู่ดีให้ได้ ด้วยการเล่นเกมส์ต่าง ๆ เช่น เกมใบ้คำ หรือ ทายปัญหา ทำเป็นประจำจะช่วยให้ความทรงจำดีหรืออาจดีขึ้นกว่าเดิม
อีกอย่างที่สามารถฝึกได้ขณะอยู่บ้าน นั่นคือ การทำสมาธิ รวมถึงการกำหนดลมหายใจ เพราะช่วยให้ปรับสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ การฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตใจมีความสามารถในการจับสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ เท่ากับว่าเรามีหมอประจำตัวอยู่กับเราตลอดเวลา
สำหรับวงการธุรกิจ เจ้ากิจการ ผู้บริหาร และคนที่เป็นผู้นำครอบครัว ก็สามารถทำได้เช่นกัน คือจะต้องเตรียม “เสบียงและพลังงาน” ให้พร้อม สำหรับที่จะเดินทางระยะยาว หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิดไปแล้ว
เสบียงและพลังงานที่ว่านี้ รวมถึงการเพิ่มทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน จะต้องปรับตัวไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ สิ่งที่เคยทำมายาวเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน การสร้างพลังงานที่มีอยู่ในแต่ละคน หากสามารถรวมกันได้ก็เกิดเป็นทีมเวิร์คที่ดี
ในช่วงวิกฤตไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายองค์กรเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถือโอกาสเชิญพนักงานมูลค่าต่ำ หรือ ด้อยประสิทธิภาพออกไปอย่างเนียน ๆ ทั้งที่ผลประกอบการอาจไม่แย่ขนาดนั้น แต่ต้องการเตรียมพลังงานใหม่ ไว้รอวันฟื้นตัวต่างหาก
แต่ที่ร้ายกว่าคือ การรู้ปัญหาแต่ไม่แก้ไขปรับปรุง อาจจะตีความได้เลยว่า นอกจากเลือกอ่านหนังสือที่เลวแล้ว ยังไปสนใจแต่เนื้อหาแย่ ๆ ในนั้นอีก สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย
ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคต เริ่มสร้างแนวคิดและแนวปฏิบัติสำหรับการชีชีวิตแบบใหม่ ที่เรียกว่า New normal ออกมามากขึ้น ๆ
อย่างไรก็ดี หนังสือทางความคิดที่ดีของชาวอินเดียก็อาจจะไม่เหมาะกับชาวญี่ปุ่น บทเรียนในหนังสือของชาวอเมริกัน ก็ย่อมแตกต่างจากมุมมองของคนไทย หรือชาวเอเชียชาติอื่น ๆ
ในอีกแง่มุมหนึ่ง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกทั้งใน สิงค์โปร์ ฮ่องกง ลอนดอน นิวยอร์ค รวมถึงกรุงเทพ และที่อื่น ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปแล้ว
พวกเขาเริ่มเดินเข้าสู่วิถีใหม่หรือทำการ Re-design ชีวิตตัวเอง อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องหนีไปเดินเส้นทางใหม่ ที่น่าจะปลอดภัยจากโรคระบาดมากกว่าเส้นทางในปัจจุบัน หรือมุ่งหน้าไปทำธุรกิจใหม่ ๆ
สิ่งที่น่าจับตาสำหรับคนเมือง คือ พวกเขาเริ่มใฝ่ฝันที่จะทำงานเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ไม่ใช่ 5-6 วันต่อสัปดาห์อย่างที่เคยเป็นอยู่
คนสิงคโปร์ถึงกับยกเรื่องนี้ ว่าเป็นงานในฝันเลยทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเมืองใหญ่ที่เคยพลุกพล่านก็คงจะเงียบเหงาน่าดู
สำนักข่าวใหญ่ทั่วโลก ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ต่อไปนี้วิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ จะเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตอนนี้ อีกไม่นานโลกใหม่จะมาเปลี่ยนเราเอง เมื่อถึงเวลานั้น เราทุกคนอาจจะเจอวิกฤติหนักหน่วงกว่าเดิมเสียอีก
สำหรับคนกรุงเทพ รูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปแล้ว เช่น
การทำงานอยู่บ้าน ตอนนี้คนไทยชอบอยู่บ้านมากขึ้น ยกเว้นเด็กและเยาวชนที่ยังอยากออกนอกบ้าน ส่วนคนทำงานได้เรียนรู้แล้วว่า รูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปกลับทำให้เขาสามารถทำงานได้ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าพาหนะเดินทางได้มากขึ้น
ส่วนบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ก็กำลังเปลี่ยนที่ทำงานไปด้วย เช่น โตโยต้า ตอนนี้เตรียมแผนจะย้ายออฟฟิศหลักออกจากใจกลางเมืองไปอยู่ชานเมืองแทน เพราะพนักงานทำงานอยู่บ้านมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเช่าออฟฟิศใหญ่ ๆ แพง ๆ ใจกลางเมือง ขณะที่ เอไอเอ ก็กำลังสร้างออฟฟิศเพิ่มในทำเลนอกเมืองมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การมาของโควิด 19 ส่งผลให้คนไทยดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลก็คือ ประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่ชาวตะวันตก อยากย้ายถิ่นฐานเข้ามามากที่สุด
ไม่แน่ว่า คลื่นมหาชนนานาชาติ อาจจะทะลักเขามาไทยหลังโควิด 19 ก็เป็นได้ และคนเหล่านี้ก็จะไม่อยู่ในตัวเมือง ส่วนมากจะหนีไปอยู่ต่างจังหวัดมากกว่า
ลองนึกดูว่าหากมีชาวต่างชาติไปอาศัยระยะยาวตามจังหวัดต่าง ๆ จะสร้างโอกาสอะไรบ้าง เช่น ความต้องการที่อยู่อาศัย สินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้จะขายดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่จะดีขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ บางเรื่องก็ต้องยอมรับสภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตเราอาจไม่มั่นใจที่จะไปชมคอนเสิร์ต หรือ เชียร์การแข่งขันกีฬา ที่มีผู้คนนับพันนับหมื่นอยู่ในที่เดียวกัน
รวมถึงการเดินทางไปที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็อาจจะไม่สามารถทำได้เต็มที่ แต่เรื่องนี้ก็นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีขึ้นต่อไป
เห็นไหมว่า เมื่อเกิดเรื่องแย่ ๆ ขึ้น ก็ใช่ว่าจะส่งผลกระทบแต่เรื่องไม่ดี ตรงกันข้ามกลับนำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่ชีวิตมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน และได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น
Category:
Tags: