Categories: WISDOM

Perfect storm สังคมไทย หนี้สิน โซเชียล และความรุนแรง

5 / 5 ( 2 votes )

“Perfect storm” คำนี้น่าจะเหมาะกับประเทศไทยขณะนี้ เพราะเราทุกคนกำลังเผชิญวิกฤตฺหลายอย่างพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพและสินค้าราคาแพงขึ้น ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจ่อตัวเข้ามา และปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ยังคงแพร่ขยายไปทั่วโลก

ยังมีอีกปัญหาที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวเราแต่ละคนไม่มากก็น้อย นั่นคือความเครียดและความกดดันไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาส่วนตัวก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว อาจแผ่วลงไปได้หากเราสามารถรับมือกับมันได้ นั่นหมายความว่าหากเรามีความสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ปัญหาก็จะอยู่กับเราได้ไม่นาน ตรงกันข้ามหากรับมือไม่ไหวก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมา

ขอยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้ชายคนหนึ่งลงมือปล้นร้านทองที่จังหวัดพลบุรีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งยิงพลเมืองเสียชีวิตไปสามราย หรือกรณีที่ชายอีกคนยิงกราดผู้คนในศูนย์การค้าที่นครราชสีมาจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก และชายอีกคนยิงปืนขึ้นฟ้าในบ้านแถวสามย่านใจกลางกรุง แม้ไม่มีคนเสียชีวิตแต่ก็สร้างความหวาดวิตกไม่น้อย

เหตุการณ์ทั้งสามนี้ ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในเชิงจิตวิทยาและแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ การทำงานของสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนภาคสนาม และการวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการก่อเหตุ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงความสามารถบริหารจัดการชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควร

สำหรับสังคมไทยแล้ว การมีทรัพย์สินเงินทอง มีรถยนต์ มีบ้าน มีไลฟ์สไตล์หรูหราดูดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและต้องการครอบครองไว้ ปัญหาเหล่านี้จะไม่รุนแรงหากเกิดขึ้นในอดีต เพราะมีข้อจำกัดเรื่องสื่อออนไลน์ กล่าวคือ ใครมีทรัพย์สินอะไรก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปอวดใครตามสื่อออนไลน์ แค่ให้รู้จักเท่าที่จำเป็นก็เพียงพอแล้ว

เทียบกับปัจจุบัน แทบทุกคนพยายามสรรหาสิ่งดีดีมาอวดอ้างกันในสังคมออนไลน์ นอกจากจะตกเป็นทาสสื่อออนไลน์ขึ้น ยังตกหลุมอำพรางที่ตัวเองหรือสังคมปรุงแต่งให้ตามที่อยากเป็น แต่ความจริงที่รู้แล้วเจ็บปวดกว่าคือ มนุษย์ออนไลน์จำนวนมากมีรายได้น้อยไม่เพียงพอกับการดำรงชีพแต่กลับมีรสนิยมเกินตัวแล้ว หลายคนต้องดิ้นรนหาเงินหรือทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต

อาจพูดได้ว่าข้อสรุปร่วมบางอย่าง จากเหตุการณ์ปล้นร้านทอง กราดยิงที่นครราชสีมาและที่กรุงเทพ น่าจะเกี่ยวต้องกับกับเศรษฐกิจปากท้องและความเป็นสังคมออนไลน์ของคนไทย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆจะไม่เผชิญปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่เขาสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ ความจริงแล้วคนไทยจำนวนมากกำลังแบกหนี้ก้อนโต ขณะที่การใช้สื่อออนไลน์ก็เป็นเรื่องปกติของคนไทยไปแล้วด้วยซ้ำ

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยืนยันว่าหนี้ครัวเรือนคนไทยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ มีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาที่ 79.1% ต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี สัญญาณหนี้ครัวเรือนสูงสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินและเงินออมของครัวเรือนปี 2562 ซึ่งพบว่า 44% ของผู้กู้-ครัวเรือนที่มีหนี้ มีภาระหนี้หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

ผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินรอบนี้ พบว่าผู้กู้-ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้หลายประเภทพร้อมๆ กัน ซึ่งโดยมากจะมีภาระผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินประมาณ 2-3 ก้อนในเวลาเดียวกัน ซึ่งต่างจากผลสำรวจฯ รอบก่อนที่ส่วนใหญ่จะมีภาระผ่อนหนี้ 1-2 ก้อนในเวลาเดียวกัน

โดยนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากหนี้ผ่อนรถยนต์ ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคล และผ่อนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้กู้-ครัวเรือนหลายกลุ่มมีภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มีสัดส่วน DSR อยู่ที่ 42.0% และ 42.7% ตามลำดับ (สูงกว่า DSR ในภาพรวมผลสำรวจฯ ที่ 39.4%) สัญญาณดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลภาพรวมในระดับประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้กู้-ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการก่อหนี้เพิ่มเติม

คำศัพท์ใหม่ที่พูดกันในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว คือคำว่า “ของมันต้องมี” โดยเฉพาะสินค้าหรูหรา ราคาแพง หรือ การใช้ชีวิตดีดีโดยเฉพาะบนโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้จึงมีการประเมินว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพี

ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครต่อใครจะมีหนี้สินติดตัว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้หรือไม่หรือไม่ต่างหาก เมื่อใครก็ตามที่เดินอยู่บนเส้นอันตรายนั่นคือ การมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ให้ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ และจะลุกลามบานปลายกลายเป็นข้อขัดแย้งขึ้นโรงขึ้นศาลกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงและสุญเสียชีวิตเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่ลพบุรีและนครราชสีมา

สำหรับใครก็ตามที่ประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว อาจติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในจังหวัดต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ หรืออาจจะติดต่อกับกรมบังคับคดีหากเรื่องไปถึงขั้นศาล เพื่อจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเพื่อลดการถูกบังคับคดี ไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ทั้งนี้การไกล่เกลี่ยไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆ

ถึงเวลาแล้วที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ และกรมบังคับคดีจะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ เพื่อรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น การเตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้คำแนะนำปัญหา การเตรียมผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาเพื่อให้คำปรึกษา สำหรับคนที่มีปัญหาชีวิตและความเครียด รวมไปถึงการให้ความรู้ในการบริหารจัดการหนี้และการสร้างอาชีพ เป็นต้น

หากปัญหาใหญ่ๆเหล่านี้ไม่สามารถลดหรือแก้ไขได้ สังคมไทยอาจะต้องเผชิญปรากฏการณ์ Perfect storm ไปอีกนาน


อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.