“Perfect storm” คำนี้น่าจะเหมาะกับประเทศไทยขณะนี้ เพราะเราทุกคนกำลังเผชิญวิกฤตฺหลายอย่างพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพและสินค้าราคาแพงขึ้น ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจ่อตัวเข้ามา และปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ยังคงแพร่ขยายไปทั่วโลก

ยังมีอีกปัญหาที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวเราแต่ละคนไม่มากก็น้อย นั่นคือความเครียดและความกดดันไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาส่วนตัวก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว อาจแผ่วลงไปได้หากเราสามารถรับมือกับมันได้ นั่นหมายความว่าหากเรามีความสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ปัญหาก็จะอยู่กับเราได้ไม่นาน ตรงกันข้ามหากรับมือไม่ไหวก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมา

ขอยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้ชายคนหนึ่งลงมือปล้นร้านทองที่จังหวัดพลบุรีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งยิงพลเมืองเสียชีวิตไปสามราย หรือกรณีที่ชายอีกคนยิงกราดผู้คนในศูนย์การค้าที่นครราชสีมาจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก และชายอีกคนยิงปืนขึ้นฟ้าในบ้านแถวสามย่านใจกลางกรุง แม้ไม่มีคนเสียชีวิตแต่ก็สร้างความหวาดวิตกไม่น้อย

เหตุการณ์ทั้งสามนี้ ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในเชิงจิตวิทยาและแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ การทำงานของสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนภาคสนาม และการวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการก่อเหตุ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงความสามารถบริหารจัดการชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควร

สำหรับสังคมไทยแล้ว การมีทรัพย์สินเงินทอง มีรถยนต์ มีบ้าน มีไลฟ์สไตล์หรูหราดูดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและต้องการครอบครองไว้ ปัญหาเหล่านี้จะไม่รุนแรงหากเกิดขึ้นในอดีต เพราะมีข้อจำกัดเรื่องสื่อออนไลน์ กล่าวคือ ใครมีทรัพย์สินอะไรก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปอวดใครตามสื่อออนไลน์ แค่ให้รู้จักเท่าที่จำเป็นก็เพียงพอแล้ว

เทียบกับปัจจุบัน แทบทุกคนพยายามสรรหาสิ่งดีดีมาอวดอ้างกันในสังคมออนไลน์ นอกจากจะตกเป็นทาสสื่อออนไลน์ขึ้น ยังตกหลุมอำพรางที่ตัวเองหรือสังคมปรุงแต่งให้ตามที่อยากเป็น แต่ความจริงที่รู้แล้วเจ็บปวดกว่าคือ มนุษย์ออนไลน์จำนวนมากมีรายได้น้อยไม่เพียงพอกับการดำรงชีพแต่กลับมีรสนิยมเกินตัวแล้ว หลายคนต้องดิ้นรนหาเงินหรือทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต

อาจพูดได้ว่าข้อสรุปร่วมบางอย่าง จากเหตุการณ์ปล้นร้านทอง กราดยิงที่นครราชสีมาและที่กรุงเทพ น่าจะเกี่ยวต้องกับกับเศรษฐกิจปากท้องและความเป็นสังคมออนไลน์ของคนไทย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆจะไม่เผชิญปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่เขาสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ ความจริงแล้วคนไทยจำนวนมากกำลังแบกหนี้ก้อนโต ขณะที่การใช้สื่อออนไลน์ก็เป็นเรื่องปกติของคนไทยไปแล้วด้วยซ้ำ

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยืนยันว่าหนี้ครัวเรือนคนไทยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ มีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาที่ 79.1% ต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี สัญญาณหนี้ครัวเรือนสูงสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินและเงินออมของครัวเรือนปี 2562 ซึ่งพบว่า 44% ของผู้กู้-ครัวเรือนที่มีหนี้ มีภาระหนี้หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

ผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินรอบนี้ พบว่าผู้กู้-ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้หลายประเภทพร้อมๆ กัน ซึ่งโดยมากจะมีภาระผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินประมาณ 2-3 ก้อนในเวลาเดียวกัน ซึ่งต่างจากผลสำรวจฯ รอบก่อนที่ส่วนใหญ่จะมีภาระผ่อนหนี้ 1-2 ก้อนในเวลาเดียวกัน

โดยนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากหนี้ผ่อนรถยนต์ ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคล และผ่อนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้กู้-ครัวเรือนหลายกลุ่มมีภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มีสัดส่วน DSR อยู่ที่ 42.0% และ 42.7% ตามลำดับ (สูงกว่า DSR ในภาพรวมผลสำรวจฯ ที่ 39.4%) สัญญาณดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลภาพรวมในระดับประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้กู้-ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการก่อหนี้เพิ่มเติม

คำศัพท์ใหม่ที่พูดกันในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว คือคำว่า “ของมันต้องมี” โดยเฉพาะสินค้าหรูหรา ราคาแพง หรือ การใช้ชีวิตดีดีโดยเฉพาะบนโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้จึงมีการประเมินว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพี

ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครต่อใครจะมีหนี้สินติดตัว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้หรือไม่หรือไม่ต่างหาก เมื่อใครก็ตามที่เดินอยู่บนเส้นอันตรายนั่นคือ การมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ให้ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ และจะลุกลามบานปลายกลายเป็นข้อขัดแย้งขึ้นโรงขึ้นศาลกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงและสุญเสียชีวิตเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่ลพบุรีและนครราชสีมา

สำหรับใครก็ตามที่ประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว อาจติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในจังหวัดต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ หรืออาจจะติดต่อกับกรมบังคับคดีหากเรื่องไปถึงขั้นศาล เพื่อจัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเพื่อลดการถูกบังคับคดี ไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ทั้งนี้การไกล่เกลี่ยไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆ

ถึงเวลาแล้วที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ และกรมบังคับคดีจะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ เพื่อรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น การเตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้คำแนะนำปัญหา การเตรียมผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาเพื่อให้คำปรึกษา สำหรับคนที่มีปัญหาชีวิตและความเครียด รวมไปถึงการให้ความรู้ในการบริหารจัดการหนี้และการสร้างอาชีพ เป็นต้น

หากปัญหาใหญ่ๆเหล่านี้ไม่สามารถลดหรือแก้ไขได้ สังคมไทยอาจะต้องเผชิญปรากฏการณ์ Perfect storm ไปอีกนาน


Passion in this story