99% ของเอสเอ็มอีปิดตัวลงใน 10 ปี อะไรทำให้คุณเป็น 1% ที่เหลือ ! ฟัง 4 เคล็ดไม่ลับที่จะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตได้อย่างยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะเป็นหน่วยธุรกิจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยังช่วยกระจายรายได้ สร้างการหมุนเวียนเงินให้ระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

ประเทศไทยมีบริษัทอยู่กว่า 3 ล้านราย ในจำนวนนี้ 9,000 รายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เหลืออีกกว่า 99% เป็นเอสเอ็มอี…

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการเอาตัวรอดภายใต้สถานการณ์วิกฤต…แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีปรับตัว เพื่อกลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

แต่การจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมได้นั้น คงไม่ใช่อาศัยแค่เพียงโชคช่วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างและการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง passion gen ได้สรุปมุมมอง แง่คิด และกลั่นออกมาเป็นเคล็ดลับ 4 ประการที่ เอสเอ็มอีต้องทำเพื่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

1. แสวงหาคนเก่งมาร่วมงาน

เพราะในยุคใหม่ ที่ไม่เพียงแค่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่ยังเป็นยุคที่ “ปลาเร็วกินปลาช้า ทุกองค์กรจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่น สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่การจะพาธุรกิจให้สำเร็จได้นั้น หัวใจที่สำคัญคือ “คน”

ด้วยข้อจำกัดด้านรายได้ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุนกับบุคลากรซึ่งเป็นความผิดอย่างมหันต์

เพราะเอสเอ็มอีมักต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัด “คนเก่ง” จึงสำคัญอย่างมาก

เอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จจึงมักใส่ใจกับการคัดเลือกคนเก่ง…แต่ที่สำคัญกว่าการเฟ้นหาคนเก่ง คือ เอสเอ็มอีต้องมีความสามารถในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรให้ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำได้ยากกว่าการเฟ้นหาคนเก่งเสียอีก


“เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้แง่คิดไว้ว่า การพัฒนาคนในองค์กรต้องให้อำนาจ ให้โอกาส ให้เกียรติคน ยิ่งทำมาก ผิดมาก ไม่เป็นไร เพราะความผิดเป็นค่าเล่าเรียน


2. จัดองค์กรแบบ Flat และ Agile

ประการนี้ควรจะเป็นข้อที่ 1 แต่เพราะ “คนเก่ง” เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด จึงขออนุญาตเลื่อนลงมาเป็นลำดับที่ 2 โครงสร้างองค์กร เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับองค์กรยุคใหม่ เพราะเหตุที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งและยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ องค์กรยุคใหม่จึงต้องยืดหยุ่น คล่องตัว ฉับไว เอสเอ็มอีจึงต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม ซึ่งองค์กรในรูปแบบ Flat และ Agile จะดีกว่า ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่า

การวางโครงสร้างองค์กรแบบ Flat และ Agile จะทำให้เอสเอ็มอี ใช้จุดแข็งในความยืดหยุ่นและคล่องตัวอย่างเต็มที่ จึงสามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ได้

เอสเอ็มอีหลายรายที่ไม่มีการวางแผนกลับมักวางโครงสร้างองค์กรแบบเดิม ซึ่งเป็นการทิ้งจุดแข็งไปคว้าจุดอ่อน…

แม้ธุรกิจจะดี แต่โครงสร้างที่ไม่ดีจะทำให้ธุรกิจเติบโตไม่ได้ดั่งใจ สุดท้ายก็หมดศักยภาพการแข่งขันไปโดยปริยาย

Link : บทความที่น่าสนใจ
กรุงไทยรับมือ COVID-19 นำพนักงานพาลูกค้าฝ่าวิกฤต
เล็ก-ใหญ่ไม่สำคัญ… ธุรกิจยุคใหม่วัดกันที่การสื่อสาร
วิเคราะห์อาณาจักร ALIBABA – แจ็คหม่า จะกินรวบธุรกิจออนไลน์ไทย…จริงหรือ?

3. เลือกใช้เทคโนโลยีสนับสนุนธุรกิจ

เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและย่นย่อความสำเร็จให้กับธุรกิจ การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เช่น Cloud Service, G Suite, eCommerce Platform, Zoom ฯลฯ จะช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างสะดวก คล่องตัว ภายใต้แนวคิด Work Anywhere ซึ่งจะช่วยเติมเต็มจินตนาการ ให้ทีมงานสามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งรวมถึงการประชุมทางไกลที่คนไทยส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับการประชุมและการทำงานจากที่บ้าน

นอกจากเทคโนโลยีพื้นฐานแล้วหลายองค์กรอาจจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่แอดวานซ์ขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น CRM Platform  หรือ โมดูลต่าง ๆ ที่สนับสนุนการขาย การทำงาน และการดูแลลูกค้า ให้ดีขึ้นด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งเสมอไป

การใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพอาจจะทำให้องค์กรติดกับดักของเทคโนโลยี ทำให้ประสิทธิภาพที่ดีด้อยลงก็ได้

ตัวอย่างเช่น การประชุมทาง Zoom แม้จะช่วยย่นย่อเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ก็ลดปฏิสัมพันธ์ของคนลง ซึ่งอาจจะไม่ดีนักสำหรับธุรกิจที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

4. เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมใหญ่

ทำไมต้องอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม ? ปัญหาอย่างหนึ่งของเอสเอ็มอีคือความต่อเนื่องของธุรกิจ

เอสเอ็มอีมากกว่า 99% มักจะต้องปิดตัวเองลงหลังดำเนินธุรกิจไปได้ 10 ปี นั่นเพราะเอสเอ็มอีไม่สามารถรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจไว้ได้

หรืออีกมุมหนึ่งคือ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

การวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน จะช่วยให้เอสเอ็มอยู่ในสภาวะของการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจากการกระตุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม และหากมีความพร้อมและทรัพยากรเพียงพอ เอสเอ็มอีนั้นก็สามารถพัฒนาไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้

แม้การเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนจะเพิ่มโอกาสในการเติบโตในระยะยาว แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสียทีเดียว หากเป็นธุรกิจใหม่ เป็นนวัตกรรม ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเดิมก็มีโอกาสเติบโตได้ เพียงแต่คุณต้องแข่งกับตัวเองพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เคล็ดไม่ลับทั้ง 4 ประการแม้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้เอสเอ็มอีแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จเสียทีเดียว เอสเอ็มอีที่จะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว ยังต้องมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตัวเอง มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีแหล่งที่มาของรายได้ต่อเนื่อง และยังต้องมีคู่ค้าและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง…


 

Passion in this story