วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง องค์การสหประชาชาติ (United Nations) หรือ UN มองเห็นปัญหานี้จึงมีการเรียกร้องให้ผู้นำธุรกิจ ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทช่วยและฟื้นฟูวิกฤตครั้งนี้

โดยสามารถมีส่วนร่วมในการควบคุมการระบาดของโรค ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศ และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ที่แนะนำให้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการเดินทาง การประชุมทางไกล การสร้างระยะห่างทางสังคม การรายการการพบอาการของโรค การดำเนินธุรกิจแบบไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกัน ตลอดจนมีการจัดเตรียมแผนรองรับความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจขององค์กรเองและคู่ค้าต่างๆ

นอกจากนี้ ภาคเอกชน ยังสามารถให้ความร่วมมือกับ UN เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสามด้านหลัก ต่อไปนี้

การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน

การให้การช่วยเหลือด้านการเงิน จะช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลกในการติดตามและเข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อช่วยห้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้เจ้าหน้าที่ บุคลากรแถวหน้ามีอุปกรณ์จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ และชุดป้องกัน PPE และเข้าถึงข้อมูล รวมถึง การพัฒนาวัคซีน การทดสอบ และการให้การรักษาต่อไป สามารถบริจาคได้ผ่านกองทุน COVID-19 Solidarity Response Fund

การบริจาคสิ่งของจำเป็น

บริษัทต่างๆ สามารถให้การช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ด้วยการบริจาคสิ่งของจำเป็น แก่องค์การอนามัยโลก ผ่านโครงการ  COVID-19 Disease Commodity Packages หรือ DCPs ซึ่งรับผิดชอบ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การเฝ้าระวัง 2. การป้องกันและควบคุม และ 3. การจัดการสถานการณ์  โครงการ COVID-19 DCP ยังครอบคลุมโภคภัณฑ์ที่มีลักษณะจำเพาะเพื่อใช้กับกิจกรรมต่างๆ  ได้แก่ การจัดเก็บตัวอย่าง และการวิเคราะห์โรค  / การคัดแยกผู้ป่วย และการคัดกรองโรค / การให้การรักษา / ชุดป้องกัน PPE และศูนย์บริการสุขภาพ

การเป็นกระบอกเสียง

ผู้นำธุรกิจสามารถเป็นกระบอกเสียงที่ทรงอิทธิพล ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก และรัฐบาลของตน นำเสนอแนวทางสร้างสรรค์ในการสื่อสารประเด็นสำคัญ เช่น

  • การร่วมมือกันจัดการกับโควิด 19 จะได้ผลดีกว่า การดำเนินการเพียงลำพัง
  • ผู้นำธุรกิจสามารถโน้มน้าวรัฐบาลให้ยังคงเปิดเสรีการค้าและปฏิบัติการตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้แน่ใจว่า การเคลื่อนย้ายผู้คนและสิ่งของจำเป็นทั้งทางบก น้ำ อากาศ ยังเป็นไปตามปกติ
  • ทั้งนี้ ภาคธุรกิจสามารถร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายในประเทศของตน เช่น UN Connecting Business Initiative (CBI) / UN Global Compact Networks และหอการค้าในแต่ละท้องถิ่น

UN Global Compact

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครั้งนี้ ทำให้ UN ออกมาเรียกร้องเป็นครั้งแรก ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ มีการช่วยเหลือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ให้เข้าถึงทุกกลุ่มคนและสามารถแบ่งปันกันได้ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ในองค์กร หรือแบรนด์ต่างๆ นำเนื้อหาด้านสุขภาพไปผนวกกับการสื่อสารในองค์กร หรือบริจาคพื้นที่สื่อ และแบ่งปันข้อมูลกับพนักงาน ฯลฯ

นอกจากจะร่วมเป็นพลังพลิกฟื้นสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว ทาง UN Global Compact องค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เสนอหลักการดำเนินธุรกิจ 10 ประการ ที่ครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงานและการต่อต้านการทุจริต ภายใต้หลักเกณฑ์การควบคุมมิให้โรคระบาดแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ ประกอบด้วย

การสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชน  /  ดูแลธุรกิจไม่ให้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน  /ส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิในการเจรจาต่อรองของกลุ่มแรงงาน / ส่งเสริม สนับสนุนและหาแนวทางต่อต้านการใช้แรงงานเกณฑ์ หรือแรงงานบังคับทุกรูปแบบ รวมถึงแรงงานเด็ก / ส่งเสริม สนับสนุนและหาแนวทางต่อต้านการเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพ /สนับสนุนแนวทางระมัดระวังการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม /ดำเนินการต่อต้านการทุจริต การกรรโชกและการให้สินบนในทุกรูปแบบ

ข้อมูลจาก

  • Business Guide COVID – 19
  • หลักสากลในการดำเนินธุรกิจช่วงสถานการณ์วิกฤต COVID- 19 จาก UN Global Compact (globalcompact-th.com)

Category:

Passion in this story