ถ้าเลือกได้ ทุกคนคงอยากทำงานกับคนที่ พูดรู้เรื่อง มีวุฒิภาวะ รับฟังเหตุผล แต่หลายๆ องค์กรก็เสียคนทำงานดีๆ ไปแบบไม่น่าจะเสียเพียงเพราะ “ผู้นำ” ขาด “ความฉลาดทางอารมณ์”

Richard Trevino ที่ปรึกษา ผู้ให้คำแนะนำแก่องค์กรต่างๆ ในการสร้างภาวะผู้นำแก่บุคลากรในองค์กร รวมถึง ซอฟท์สกิลล์ด้านต่างๆ บอกว่า Emotional Intelligence หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรต้องใส่ใจพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวบุคลากร โดยเฉพาะในระดับผู้บริหาร และผู้จัดการ เพราะผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะทำให้องค์กรสามารถเก็บรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้ทำงานกับองค์กรไปได้นานๆ

ภาพประกอบจาก pexels.com

ความฉลาดทางอารมณ์สำคัญอย่างไร

ความฉลาดทางอารมณ์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จต่อการใช้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เป็นหัวข้อที่ผู้จัดการ และผู้นำในองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญพูดถึง และพยายามพัฒนาปรับปรุง ความฉลาดทางอารมณ์ของตนเอง

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะ เข้าใจตนเอง สามารถจัดการตนเองได้เหมาะสม รวมถึง บริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความฉลาดทางอารมณ์ส่งผลต่อการทำงาน และความสำเร็จในการรักษาลูกค้าให้ยังภักดีกับองค์กรต่อไป เพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ส่งเสริมภาวะผู้นำในองค์กร เอื้อต่อการบริหารจัดการภายในและประเด็นอื่นๆ

ทั้งนี้ ความฉลาดทางอารมณ์สามารถแยกเป็นสององค์ประกอบหลักคือ การรู้จัก เข้าใจ อารมณ์ตนเอง และรับรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้าง

ภาพประกอบจาก pexels.com

รู้จักตนเอง

การรู้จักตนเอง หรือเข้าใจตนเอง ก็คือ การที่เรารู้อารมณ์ของตัวเอง และรู้ว่า ควรแสดงออกต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ด้วย และหากอยากเข้าใจว่าตนเองเป็นคนแบบไหน มีบุคลิกอย่างไร Trevino ก็ได้แนะนำให้ลองทำแบบทดสอบที่ชื่อว่า Myer-Briggs Type Indicator

เขายังบอกว่า หากเรา รู้จักตนเอง เราจะมีปฎิกริยาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เข้าใจได้ว่าอะไรคือสาเหตุให้เรารู้สึกแบบนั้น และยับยั้งตนเองให้แสดงออกอย่างเหมาะสมแบบคนมีวุฒิภาวะ รู้ว่าตนเองกำลังโกรธ หรือหงุดหงิด และตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องว่า ควรสงบนิ่งแม้ในใจจะพลุ่งพล่านแค่ไหนก็ตามเพื่อไม่ให้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเลวร้ายลงกว่าเดิม หรือหากมีใครวิพากษ์วิจารณ์ก็สามารถยอมรับได้ทั้ง “ก้อนหิน” และ “ดอกไม้” และนำคำวิจารณ์เหล่านั้น มาพัฒนา ปรับปรุงตนเอง เป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้

ภาพประกอบจาก pexels.com

ที่สำคัญ การตระหนักรู้ในตนเอง ยังทำให้เราสามารถ “สื่อสาร” ได้ดีขึ้น เพราะเราสามารถควบคุมตัวเองได้ว่า ควรมีปฎิกริยาต่อสถานการณ์และผู้คนอย่างไร รวมถึงสามารถหลีกเหลี่ยงข้อขัดแย้งที่ไม่จำเป็นในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในชีวิตส่วนตัวได้ เช่น แทนที่จะตะโกนระเบิดอารมณ์ออกไป หรือมีฉากทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น เมื่อรู้ตัวว่า กำลัง “เดือด” หรือ “หงุดหงิด”  เราจะเริ่มสั่งตัวเองให้หายใจลึกๆ ยาวๆ และจัดการกับปัญหาหรือเรื่องนั้นๆ อย่างสงบ เท่านี้ ก็ทำให้เราหลุดพ้นการเพิ่มความรุนแรงให้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น

ภาพประกอบจาก pexels.com

รู้จัก เข้าใจสังคมและคนอื่นๆ

การตระหนักถึงสังคม หมายถึง การมีความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ หรืออีกนัยคือ รับรู้ เข้าใจ ความรู้สึก และอารมณ์ของคนอื่นๆ รวมถึง ยังเต็มใจที่จะเคารพ มุมมองความคิดของคนอื่นๆ การตระหนักรู้สังคม ยังหมายรวมถึงการซื่อสัตย์ และมีความเคารพ นับถือผู้อื่น

หากคุณรู้ว่า คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวคุณจะมีปฎิกริยา หรือจะแสดงออกอย่างไร ก็จะทำให้คุณเตรียมรับมือกับปฎิกริยาเหล่านั้นได้ เช่น ในฐานะที่เป็นผู้จัดการหรือผู้นำ คุณอาจจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในองค์กร และคุณก็ประเมินได้ว่า น่าจะมีพนักงานบางคนมีปฏิกริยาทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ คุณจึงวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้พนักงานได้รับรู้ว่า ข้อกังวลของพวกเขาได้รับการวางแผนจัดการแล้ว ทำแบบนี้ ก็จะช่วยป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง นี่เอง

และเช่นเดียวกับการรู้จัก เข้าใจตนเอง เมื่อคุณตระหนักรู้ในสังคม และคนรอบตัว คุณก็จะสามารถเพิ่มพูนความสามารถในการสื่อสารให้ดีขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ในแวดวงการทำงาน แต่ยังรวมถึงการสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ภาพประกอบจาก pexels.com

หากอยากพัฒนาความสามารถในการรู้จัก เข้าใจสังคมและคนรอบตัว ก็ต้องหัดฝึกสังเกตคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวให้มากๆ  จดบันทึกว่า อะไรทำให้เขาเหล่านั้นแสดงออกอย่างที่เป็น เราจับสังเกตได้จากสัญญาณบางอย่างที่เขาแสดงออกในขณะที่อารมณ์กำลังร้อนแรง เช่น คนส่วนใหญ่จะหายใจแรงขึ้นเมื่อรู้สึกโกรธ บางคนก็หน้าแดง บางคนก็ทำหน้าผากย่น เลิกคิ้ว เป็นต้น สัญญาณเหล่านี้ สะท้อนว่า เขากำลังจะมีปฎิกริยาลบกับคำพูด หรือการกระทำ หรือกับบางสถานการณ์ที่คุณมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อรู้ จับสัญญาณเหล่านี้ได้ คุณก็จะสามารถจัดการบางอย่างได้ เพื่อให้แน่ใจว่า สถานการณ์ หรืออารมณ์ของพวกเขาจะไม่พุ่งขึ้นไปกว่านี้ หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จะไม่ร้อนแรงกว่าที่กำลังเป็น เพราะคุณได้ดับอารมณ์ หรือทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายไปแล้ว ไม่มากก็น้อย ก่อนที่จะถึงจุดเดือดทางอารมณ์ของพวกเขา

หากผู้จัดการ หรือผู้นำในองค์กร สามารถพัฒนาปรับปรุงความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองก็หมายถึง สามารถพัฒนาปฎิกริยากับคนทำงานร่วมกันในแต่ละวันให้ดีขึ้นได้

มีประโยชน์มากมาย จากการเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ หนึ่งในนั้น คือ ทำให้เรารักษาทีมงานคุณภาพให้ยังอยู่กับองค์กรต่อไปได้ ทำให้เราสามารถรวมกลุ่มคนทำงานให้ทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน ความฉลาดทางอารมณ์ ยังเอื้อให้เราเข้าใจว่า เขาจะมีการตอบสนองทางอารมณ์อย่างไร  รวมถึงทำให้เรารู้ว่า ควรจะส่งสาร หรือโน้มน้าวเขาด้วยถ้อยคำแบบไหนเพื่อให้เขาทุ่มเททำงานหนักขึ้น ที่สำคัญ การตระหนักรู้ในตนเองและสังคม ยังช่วยให้เราบริหารความสัม พันธ์ระหว่างบุคคลได้ดีขึ้น ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นชีวิตงาน หรือชีวิตส่วนตัว

6 วิธีง่ายๆ เพิ่มพูน “ความฉลาดทางอารมณ์”

คิดบวก / จัดการความเครียดอย่างดี / ให้ความสำคัญกับภาษาท่าทาง / มีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม /เลือกใช้คำพูดอย่างเหมาะสม / และให้อภัยพร้อมกับแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธี

 6 ข้อเสียของการขาด  “ความฉลาดทางอารมณ์”

ความสัมพันธ์ภายในองค์กรย่ำแย่ / สูญเสียพลังงานอย่างไม่เหมาะสม / ก่อให้เกิดความขัดแย้ง /  ผู้นำที่ขาดความฉลาดทางอารมณ์อาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาภายในองค์กรเสียเอง / เมื่อต้องเสียพลังงานไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็เท่ากับเราลดโอกาสสร้างผลิตภาพการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และลดทอนการมีส่วนร่วมของทีมงาน


Sources
- Increase employee retention by upping your leadership EQ : entrepreneur.com
- Why emotional intelligence is crucial for success : entrepreneur.com

 

Passion in this story