เชื้อไวรัสโควิด 19 ยังคงระบาดไปทั่วโลกจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 4 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายแสนคน กลายเป็นมหันตภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ แน่นอนว่าโรคอุบัติใหม่นี้กำลังท้าทายวงการการแพทย์อยากมาก และยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก ที่สำคัญอีกอย่างคือการเปลี่ยนแปลงวงการธุรกิจครั้งใหญ่จากภาพเดิม ๆ ไปสู่ภูมิทัศน์และแนวคิดใหม่ ๆ ที่เรียกว่า Future Business
โลกใหม่ทางธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น วันนี้ passion gen รวบรวมแนวคิดและมุมมองจากนักวิชาการหลายคนจากหลากหลายสาขา จากสำนัก Harvard Business School มาฝากกัน
เริ่มจากศาสตราจารย์ Michael Beer เสนอทัศนะใหม่ว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจจะต้องสร้างวัฒนธรรมความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับพนักงานให้ได้ การมาของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ครั้งนี้เป็นความท้าทายใหม่ที่จะนำไปสู่การสื่อสารที่จริงใจ และการพูดแต่ความจริงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการอยู่ และมันก็ถึงเวลาที่ทำเพื่อให้ผู้บริหารสามารถส่งสารตรงลงไปถึงระดับพนักงานได้ตรง ๆ ชัด ๆ มากขึ้น
ที่จริงแล้วการบริหารงานแบบตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ถือเป็นสิ่งจำเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมการไว้วางใจในองค์กรก็ยากที่จะเกิดขึ้น
หากพิจารณาให้กว้างออกไปนอกองค์ ก็จะพบว่าโควิด 19 นำพาเราไปสู่แนวคิดใหม่อีกอย่างนั่นคือ การร่วมมือร่วมใจระหว่างองค์กรธุรกิจและลูกค้า ตามที่ Ryan W. Buell ตั้งข้อสังเกตไว้ อธิบายง่ายๆคือผู้บริหารในองค์กรธุรกิจจะต้องหาทางให้ลูกค้ากลายเป็นผู้ช่วยทางธุรกิจในยุควิกฤตให้ได้ หรือไม่ก็ทำให้ลูกค้ากลายเป็นหุ้นส่วนธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้
ตัวอย่างแนวทางที่อาจนำมาปรับใช้ เช่น การให้ลูกค้าที่เข้าชมภาพยนตร์เก็บขยะก่อนออกจากโรงภาพยนตร์ จะช่วยให้ย่นระยะเวลาทำความสะอาดได้ หรือการให้ผู้โดยสารเก็บขยะก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดก็จะช่วยให้การทำความสะอาดง่ายและประหยัดเวลา ทำให้เที่ยวบินต่อไปออกตรงเวลามากขึ้น ทั้งสองกรณีนี้คือตัวอย่างที่ดึงลูกค้ามาเป็นผู้ช่วยทางธุรกิจแล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ หลายองค์กรจำเป็นต้องให้พนักงานทำงานอยู่บ้านจน กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่ง Prithwiraj (Raj) Choudhury ได้เปิดมุมมองใหม่เรื่องการทำงานแบบ Remote work โดยชี้ให้เห็นว่าการทำงานนอกพื้นที่จะกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจ แต่การปรับเปลี่ยนเข้าสู่การ work from home หรือ remote work ก็ต้องการช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสักระยะ องค์กรจะต้องให้ความช่วยเหลือพนักงานด้วยเช่นกัน เบื้องต้นจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปติดตั้งและสอนการใช้อุปกรณ์การสื่อสารต่าง ๆ ที่บ้านพนักงาน หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน เมื่อสามารถใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล ผสมผสานกับการปรับตัวทางเทคโนโลยีได้แล้ว จะช่วยให้การทำงานแบบนอกสถานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับองค์กร ต้องพยายามไม่ให้พนักงานเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนต้องทำงานอยู่เพียงลำพัง องค์กรธุรกิจจะต้องกระตุ้นและสร้างการตระหนักรับรู้ระหว่างพนักงานตลอดเวลา ให้เข้าใจถึงการทำงาน ใช้ชีวิต และการพักผ่อนส่วนตัวในรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่พวกเขาคุ้นเคย
ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักเดียวกันอีกคนคือ Amy C. Edmondson สนับสนุนแนวคิดการทำงานในสถานกาณ์ปัจจุบัน โดยเขาเชื่อว่าผู้นำองค์กรคือคนสำคัญที่จะกระตุ้นให้พนักงานร่วมมือร่วมใจในการทำงาน หากมีการสื่อสารด้วยความจริงและไม่ปิดบังด้านมืดและข้อเสียต่าง ๆ จะทำให้การทำงานในยุคโควิด 19 สามารถปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นเรื่องโครงสร้างองค์กรเป็นที่ตั้งมาเป็นการทำงานแบบทีมเวิร์คมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ทันทีแต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ
แนวคิดการบริหารธุรกิจในลักษณะเดียวกันนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่าทั้งพนักงานและสถานที่ทำงานที่ดี เป็นเรื่องสำคัญตามข้อเสนอของ John Macomber ที่เน้นว่าสุขอนามัยของพนักงานจะต้องดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่การสวมหน้ากากอนามัย หรือการตรวจอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร แต่ทุกบริษัทจะต้องดูแลอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ให้สะอาด มีมาตรฐาน ตั้งแต่พัดลมเครื่องกรองอากาศ เครื่องทำความร้อน และอื่น ๆ หากที่ทำงานสะอาดปลอดจากเชื้อโรค พนักงานอาจจะมีความมั่นใจและในที่สุดก็จะเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจได้มากขึ้น
อีกคนหนึ่งที่มองโลกธุรกิจในอนาคต แต่มุ่งสนใจเรื่องซัพพลายเชน หรือระบบกระจายสินค้านั่นคือ Stephen P. Kaufman เขามองว่าระบบการกระจายสินค้าจะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ตัวอย่าง เช่น บริษัทอเมริกันซึ่งต้องนำเข้าสินค้าจากอังกฤษ แต่พบว่าบริษัทจากอังกฤษชะลอการผลิตสินค้า เนื่องจากลูกค้าของบริษัทนี้จากอิตาลีก็มีปัญหาเช่นกัน ขณะที่บริษัทลูกค้าย่อย ๆ ที่อยู่ในอาเซียนและประเทศจีนก็ปิดตัวเช่นกัน สถานการณ์แบบนี้ผู้บริหารองค์กรจะต้องเพิ่มความสนใจมากกว่า 1 ขั้นในเรื่องการจัดการระบบซัพพลายเชน และต้องเข้าถึงระบบการทำงานเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งมากกว่าเดิม
ปิดท้ายแนวคิดเรื่อง Future Business จากสำนักฮาร์วาร์ดด้วยแนวคิดของ Willy C. Shih ที่ได้เปิดมุมมองใหม่เรื่องแหล่งผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุดิบต่าง ๆ จากเดิมที่ทั่วโลกต้องช็อคเมื่อโรงงานผลิตในประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่ของโลกต้องหยุดชะงัก แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องปรับทิศทางใหม่ คือต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศจีน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและยังได้เปิดประตูหาพันธมิตรใหม่ ๆ ในประเทศอื่น ๆ อีกทางด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก
How the Coronavirus is already rewriting the future of business
Category: