บางทีโอกาสทางธุรกิจก็มักจะมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ดังเช่นกรณีของ “ผักปวยเล้ง” ที่ขายดีเทน้ำเทท่าเพราะตัวการ์ตูนอย่าง “ป๊อปอาย“
“ป๊อปอาย” ปรากฏตัวครั้งแรกในคอลัมน์การ์ตูน “Thimble Theatre” ของ บริษัท King Features Syndicate Inc. เมื่อปี ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) และต่อมาก็ได้รับความนิยมเพื่มเรื่อยๆ จนได้รับการสร้างเป็นการ์ตูนทางโทรทัศน์แบบเรื่องสั้นจบในตอนเมื่อปี ค.ศ.1933 ในชื่อ Popeye the Sailor
เนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตและการผจญภัยของกะลาสีเรือชื่อ “ป๊อปอาย” ซึ่งเมื่อเขากินผักปวยเล้ง (Spinach) เข้าไปแล้วจะแข็งแรงขึ้นมาก จนสามารถเอาชนะคู่ปรับที่แข็งแรงและตัวใหญ่กว่าได้อย่างง่ายดาย
อิทธิพล และความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ ทำให้เด็กหลายๆคนในสหรัฐอเมริกายุคนั้น หันมากินผักปวยเล้งเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการบริโภคผักปวยเล้งเพิ่มขึ้นถึง 33% ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ซึ่งผักปวยเล้งได้กลายเป็นอาหารโปรดอันดับที่ 3 ของเด็กๆ รองจาก ไก่งวง และไอศกรีม เลยทีเดียว
ชุมชนเมืองคริสตัล (Crystal City) ในรัฐเท็กซัส ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักปวยเล้ง ถึงกับสร้างรูปปั้นของตัวการ์ตูนป๊อปอายขึ้นมา เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยกระตุ้นให้การค้าขายของพวกเขาดีขึ้นเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การที่ตัวละครของป๊อปอาย ถูกออกแบบให้กินผักปวยเล้งแล้วแข็งแรงขึ้นนั้น มาจากความเข้าใจผิดในสมัยก่อนที่ว่า ผักปวยเล้ง มีปริมาณธาตุเหล็กสูงมาก โดยที่มาของความเข้าใจผิดเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1870 เมื่อนักเคมีชาวเยอรมันชื่อเอริค ฟอน วอล์ฟ (Erich von Wolff) ได้ศึกษาวิจัยปริมาณธาตุเหล็กในผักปวยเล้ง แต่ในตอนที่เขาจดบันทึกผลการค้นคว้านั้น เขาเขียนจุดทศนิยมผิดตำแหน่ง ทำให้ตัวเลขปริมาณธาตุเหล็กในผักปวยเล้ง สูงกว่าความจริงถึง 10 เท่า จาก 3.5 มิลลิกรัม กลายเป็น 35 มิลลิกรัม ต่อผักปวยเล้งปริมาณ 100 กรัม
เกร็ดน่ารู้ : การ์ตูนเรื่อง Popeye the Sailor เคยถูกนำมาฉายทางทีวีในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “ป๊อปอายยอดกะลาสี” แต่ในตอนนั้นทีมงานที่ทำหน้าที่แปล แปลคำว่า “Spinach” เป็น ผักโขม จึงทำให้เด็กไทยจำกันติดหัวว่า ป๊อปอายกินผักโขม ไม่ใช่ ผักปวยเล้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก bbc telegraph dailymail หมายเหตุ : เนื้อหาของบทความนี้ ดัดแปลงมาจากบทความที่ได้เผยแพร่ผ่านเพจ Kith & Kin Communication and Consultant Co., Ltd เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561) facebook
Category: