การเกิดขึ้นใหม่และล้มหายตายจากของบริษัทคือเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ บริษัทที่ไม่ยอมปรับตัว ย่อมไม่อาจอยู่รอดได้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่พัดพาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งกระหน่ำเข้ามาพร้อมกันทุกด้านตั้งแต่เทคโนโลยี ไปจนถึงแนวคิดและวิถีชีวิตประจำวัน หลาย ๆ บริษัทจึงมีการปรับตัวและเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอด และการมองหา “พาร์ทเนอร์” หรือ “พันธมิตรทางธุรกิจ” เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยกันฝ่าฟันพายุที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลง เสริมจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

PassionGen ชวนติดตาม 1 ในบริษัทที่มีการปรับตัวโดยอาศัยเทคโนโลยีและพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย เพื่อสร้างบริการใหม่ที่บริษัทประกาศเข็มมุ่งว่า “ต้องเป็นเลิศและเป็นผู้ช่วยให้แก่ผู้บริโภคในทุกมิติ”

การปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่เก่าแก่และดำเนินกิจการมานาน กว่า 50 ปี ฝ่าช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายต่อหลายครั้ง แต่การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ไม่ใช่เพราะความเก่าแก่ขององค์กร หากเป็นความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทใหญ่ทั่วโลก ธนาคารกรุงไทยมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจมาโดยตลอด เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการเงินการธนาคารในแต่ละยุคสมัย แต่ ยุค Digital Disruption ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ยากและท้าทายสำหรับธนาคารกรุงไทยมากกว่าครั้งไหน ๆ ยิ่งบวกกับความต้องการจะสลัดทิ้งภาพลักษณ์เดิม ๆ ของกรุงไทยที่ถูกมองว่า ช้า เชย และล้าหลัง ไม่ก้าวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ธนาคารยิ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และก้าวไปสู่การเป็น Invisible Banking/Open Banking หรือธนาคารที่ลูกค้าสามารถใช้บริการทำธุรกรรมได้ไม่ว่าจะเวลาไหนหรือที่ใดก็ตาม เป็นธนาคารให้บริการธุรกรรมในอากาศ ที่ติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับลูกค้าทุกที่

ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Invisible Banking/Open Banking กรุงไทยตั้งเป้าหมายในการให้บริการแก่ลูกค้าด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้ง 5 Ecosystem ได้แก่

  • กลุ่มการชำระเงิน (Payment)
  • กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (Government)
  • กลุ่มระบบขนส่ง (Mass transit)
  • กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล (Healthcare)
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา (Education)

นอกจากจะประกาศยกระดับคุณภาพการให้บริการที่เน้นความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นแล้ว ธนาคารยังเน้นการใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่ล้ำสมัยมาตอบสนองความต้องการซึ่งเปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคทั้ง 5 กลุ่มนี้ด้วย

ที่สำคัญคือ การประกาศปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่

โครงการ “กรุงไทยคุณธรรม” เป็นความพยายามของธนาคารกรุงไทยที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ประชาชน และสังคม หลังเผชิญหน้ากับเรื่องอื้อฉาวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการปรับภาพลักษณ์และวัฒนธรรมองค์กรให้มีความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และป้องกันการทุจริต โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธนาคารให้เป็นต้นแบบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ยิ่งพนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร จะยิ่งช่วยกันพัฒนาองค์กรไปในทางสร้างสรรค์ และกล้าเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะยกระดับองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการให้บริการแก่ลูกค้า

ในด้านของพาร์ตเนอร์ หรือพันธมิตรร่วมงาน ธนาคารกรุงไทย ได้ผนึกกำลังจับมือกับหลายองค์กร เช่น บริษัท Visa ที่จะมาช่วยเรื่องระบบการชำระเงิน (payment) รวมถึงเชื่อมโยงกรุงไทยเข้ากับลูกค้า และ บริษัท Plug and Play ที่จะช่วยดึงบริษัท Start Up หรือ Fintech ต่าง ๆ เข้ามาช่วยกรุงไทยในการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ ๆ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ธนาคารกรุงไทยให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Wells Fargo ซึ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2559 ว่าประสบปัญหาทุจริตภายในจนส่งผลอย่างมหาศาลต่อความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กรุงไทยสามารถป้องกันความผิดพลาดแบบเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

วันนี้ ธนาคารกรุงไทยพยายามพลิกโฉมวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง สลัดภาพเก่า ๆ ของกรุงไทยว่าเป็นธนาคารของรัฐที่อุ้ยอ้าย เชื่องช้า และเฉิ่มเชย นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อไล่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในรูปแบบใหม่ ๆ ของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงินและเป็น Invisible Banking/Open Banking ควบคู่กับการนำสังคมไปสู่ยุคดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปเจาะลึกอย่างละเอียดกับการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาใช้ของธนาคารกรุงไทย รวมถึงการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การหาพันธมิตรเพื่อ ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ และ พาไปดูว่าเทคโนโลยีที่ธนาคารกรุงไทยนำมาใช้นั้นมีอะไร เป็นอย่างไร

เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า การที่ธนาคารกรุงไทยวางเข็มมุ่งจะเป็น “ธนาคารแห่งอนาคต” นั้น เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง


Category:

Passion in this story