ยังนั่งทำงานกันอยู่ แต่ดูๆ ไปเนื้องานไม่คืบหน้าเท่าไหร่เลยใช่มั้ย???
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โลกทุกวันนี้ มีเรื่องดึงความสนใจเราตลอดเวลา โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่เราเชื่อมต่อกันแทบจะ 24 ชั่วโมงต่อวัน เพียงเพราะต้องการจะเป็นคนที่ “พร้อมเสมออยู่ตรงนี้เพื่อเธอและเธอมากมาย” ไม่ว่าเวลาใด เขาเหล่านั้นก็สามารถเข้าถึงและรบกวนเราได้
บางคนอาจจะบอกว่า “จะยากอะไร ก็แค่ปิดเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ทั้งหมดของคุณ อยู่กับตัวเองสักสองสามชั่วโมงแล้วก็ทำงานไปสิ” แต่ในความเป็นจริงคือ มันทำยากมากๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อคนเรามีการมโนแปลกๆ ว่า เราต้องพร้อมเสมอสำหรับใครบางคนในเวลาที่เขาต้องการเรา
แต่ แต่ แต่…… ถ้าคุณตั้งใจจริง อยากจะเพิ่มศักยภาพของตัวเอง ทำสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละวันที่ผ่านไป อยากผลิตงานคุณภาพให้ดีกว่าที่ใครคาดหวัง อยากมีอำนาจบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างอย่างใจ หรือแม้แต่กำหนดช่วงเวลาและบริหารเวลาให้เป็นไปตามที่ต้องการ เพื่อที่คุณจะสามารถจดจ่อกับงานที่มีความหมายกับคุณได้
คุณไม่จำเป็นต้องทำตัวเองเป็น “คนสันโดษ” เพื่อทำสิ่งเหล่านี้ เพียงแค่ต้องมีกลวิธีพื้นฐานบางประการเพื่อให้คุณยืดหยุ่น และพร้อมจดจ่อกับงานสำคัญๆ และยังสามารถจัดการเรื่องวิกฤต และเหตุโศกนาฎกรรมในชีวิตของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวได้
ต่อไปนี้ คือ 7 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณมีสมาธิในการทำงานและลดความว้าวุ่นใจลง
1. หาให้เจอว่า ช่วงเวลาไหนของวันที่คุณจะมีสมาธิจดจ่อมากที่สุด
โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีสมาธิสุดๆ คือ ช่วงหลังตื่นนอนใหม่ๆ ขณะที่คนอีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มที่หายากกว่า มักจะมีสมาธิดีในช่วงเย็น
หากคุณเข้าใจแนวคิดนี้ คุณก็จะเลือกได้ว่า จะใช้เวลานั้นเพื่อทำงานที่มีประโยชน์กับคุณ รวมถึง ต้องสงวนช่วงเวลานี้ให้ปลอดจากการรบกวนจากใครอื่น เพื่อที่จะทำงานที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สุด
2. รับความสะดวกสบายจากการใช้งานโหมด “ห้ามรบกวน”
ถ้าอยากนั่งทำงานได้อย่างมีสมาธิจดจ่อ ลองกดปุ่ม โหมด “ห้ามรบกวน” ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่คุณใช้งานดู ไม่ว่าจะเป็น มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ เพียงเท่านี้ เมล์ต่างๆ หรือข้อความใหม่ๆ ที่เข้ามาก็จะไม่ถูกแจ้งเตือนขึ้นมาขัดจังหวะการทำงานของคุณ ทำให้คุณสามารถทำงานได้ลื่นไหลจนเสร็จสิ้น จากนั้น คุณก็ค่อย กด ปิดการใช้งานโหมด “ห้ามรบกวน” นี้ซะ
ไม่สำคัญว่า โหมด ห้ามรบกวน นี้ ทำงานได้ผลจริงหรือไม่ แต่สำคัญว่า คุณอยากเปิดใช้งานโหมดนี้หรือไม่ต่างหาก เพราะคนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า เราต้องพร้อมเสมอสำหรับเจ้านายและคุณลูกค้าผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งมันไม่จริงเลย เพราะเมื่อคุณอยู่ในสถานะพร้อมเสมอ ก็เท่ากับคุณสร้างเงื่อนไขให้พวกเขาวิ่งมาหาคุณตลอดเมื่อเกิดปัญหา
และการทำแบบนั้น คุณไม่ได้ช่วยพวกเขาแม้แต่น้อย กลับจะทำให้พวกเขาไม่คิดแก้ปัญหาหรืออีกนัยคือไม่พัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองด้วยซ้ำ ที่สำคัญงานของคุณจะไม่เสร็จเอาด้วย ซึ่งเจ้านายและลูกค้าจะไม่ปลื้มหรือรู้สึกดีกับคุณหรอกนะ
จงจำว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาพอใจ และมองคุณในแง่บวก จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อคุณสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพดีเยี่ยมให้แก่พวกเขา และในแบบที่ทันกำหนดเวลาส่งมอบงานด้วย
3. กำหนดช่วงเวลาประจำวัน ที่คุณจะจดจ่อ และมีสมาธิกับงาน
เทคนิคนี้ ง่ายแสนง่ายจนคุณอาจนึกไม่ถึง
เริ่มแรก ให้คุณนึกว่า ช่วงเวลาไหนที่คุณอยากถูกรบกวนน้อยที่สุด เช่น อาจเป็นช่วง 6 – 9 โมงเช้า ตามสถิติแล้ว คนส่วนใหญ่เลือกจะใช้ช่วงเวลา 90 นาทีแรกในที่ทำงานยามเช้ากับการเคลียร์เอกสาร อีเมล์ และข้อความต่างๆ ซึ่งเมื่อพวกเขาใช้เวลาทำสิ่งนี้ ก็จะไม่มารบกวนเวลาของคุณ ทำให้ 90 นาทีแรกในที่ทำงานเป็นเวลาปลอดการรบกวนที่สุด ถ้าคุณเลือกทำงานที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อมากๆ ในช่วงนี้ คุณจะทำงานได้เสร็จรวดเร็วจนคุณนึกไม่ถึงทีเดียว
อีกจุดที่สำคัญคือ การกำหนดช่วงเวลานี้ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำจึงจะได้ผลดีที่สุด หลังเสร็จงานสำคัญแล้ว ถ้าจะมาตรวจเช็ก ตอบเมล์ ข้อความต่างๆ สัก 10.30 -11.00 น. ก็ไม่สายไปสำหรับคุณ
4. วางแผนการทำงานล่วงหน้าก่อนเข้านอน
วางแผนไว้ล่วงหน้าว่า พรุ่งนี้ คุณจะทำงานอะไรบ้าง ลิสต์ไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอนเลย ถ้าคุณมีแผนการที่ชัดเจน คุณจะบริหารเวลา และทำสิ่งที่เหมาะสมได้ ดีกว่าเลื่อนลอยไปมา เพราะวันเวลาของคุณที่ไร้ทิศทางจะถูกคนอื่นขโมยไปใช้ ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องของใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นโศกนาฎกรรมความรัก เรื่องเร่งด่วนของเขาที่หาสาระไม่ได้สำหรับคุณ
มีคำกล่าวคำหนึ่ง อาจเตือนใจคุณได้ นั่นคือ “คุณจะเป็นคน “รัน” วันเวลาของคุณเอง หรือปล่อยให้วันเวลา มาเป็นตัว รัน ว่าคุณต้องทำอะไรบ้าง”
ถ้าคุณเป็นผู้ควบคุมอำนาจ และทำให้เป็นนิสัยในการวางแผนล่วงหน้าในสิ่งที่คุณจะต้องทำให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ก่อนเข้านอน คุณจะพบว่า คุณจะจดจ่อกับงานได้มากที่สุด และถูกรบกวนน้อยที่สุด
การวางแผนการทำงานของวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ใช้เวลามากมายอะไร หากทำตามหลัก 2 – 8 Prioritization Technique ซึ่งสามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 10-15 นาที ก่อนนอน แผนการนี้คือ ให้คุณกำหนดเรื่องที่ต้องทำ 10 เรื่อง ประกอบด้วย 2 เรื่องที่ต้องทำ และ 8 เรื่องที่อยากทำให้เสร็จ
อย่าพยายามกำหนดงานมากกว่า 10 งานที่จะทำให้เสร็จในแต่ละวัน เพราะถ้าทำแบบนั้น คุณจะไม่เหลือเวลา หรือช่องให้คุณยืดหยุ่นสำหรับจัดการวิกฤต หรือเรื่องไม่คาดฝันต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน และถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ซึ่งไม่ยืดหยุ่นกับคุณเลย จะทำให้คุณรู้สึกหมดไฟ ไม่อยากวางแผนการทำงานล่วงหน้าอะไรอีก
ดังนั้น วางแผนสำหรับงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่องานและโปรเจ็กท์ที่คุณมีส่วนรับผิดชอบเป็นหลักเท่านั้น
5. เรียนรู้ที่จะ “ปฎิเสธ” บ้าง
แน่นอนว่า ต้องมีคนพูดแบบนี้มาก่อนแล้ว เพราะคนเราโดยทั่วไปมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ อยากเอาใจใครต่อใครไปเสียทั้งหมด ซึ่งหากทำแบบนั้นจริง คุณคงต้องตอบรับทุกเรื่องของทุกคน แต่เราไม่สามารถทำทุกสิ่งและทุกเวลา เมื่อใดก็ตามที่เราตอบรับกับสิ่งหนึ่ง ย่อมหมายความว่า เราได้ตอบปฎิเสธกับอีกสิ่งหนึ่ง หรืออีกโอกาสหนึ่งไปแล้ว คุณไม่มีทางทำสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้
นี่เป็นที่มาของคำฮิตที่คุณน่าจะเคยได้ยินกัน นั่นคือ JOMO หรือ Joy Of Missing Out พอใจที่จะไม่รู้อะไรบ้าง แทนที่จะเป็นกลุ่มคนประเภท FOMO – Fear Of Missing Out คนที่กลัวจะพลาดทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น (ซึ่งหลายๆ ครั้ง การรู้ทุกเรื่องก็ไม่ได้เกิดผลงอกงามอะไรกับชีวิตเรานะ!)
ดังนั้น เรียนรู้ที่จะปฎิเสธบางเรื่องบางราวที่เข้ามา เช่น ไม่รับโทรศัพท์บ้าง ปฎิเสธเพื่อนร่วมงานบางคนที่ขวนเราไปสุมหัว “เมาธ์” ใส่ใครอีกคนในที่ทำงาน ไม่เข้าร่วมงานจิตอาสาที่ใครเสนอมา หากงานนั้นไม่ทำให้คุณรู้สึก ตื่นเต้น ท้าทาย หรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วเอาเวลาที่ปฎิเสธเรื่องเหล่านั้นมาทำสิ่งที่คุณสนใจจริงๆ หรือสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข สร้างสรรค์สิ่งที่พิเศษบางประการ หรือแม้แต่เพียงเพื่อทำให้คุณได้อยู่สงบๆ กับตัวเองสักช่วงเวลาหนึ่ง
6. สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คุณปลอดจากการรบกวน หรือทำให้ว้าวุ่นใจ
นี่เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ได้ผลมากๆ ในบรรดาเทคนิคทั้ง 7 ข้อก็ว่าได้ นั่นคือ หาสถานที่ที่เป็นมุมปลอดการรบกวนของคุณ ซึ่งต้องเป็นสถานที่ที่สะอาดสะอ้าน มีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้กับงานที่คุณต้องทำ เช่น หากคุณจะเขียนรายงาน หรือทำพรีเซนเตชั่น สิ่งที่คุณต้องมี คือ โต๊ะสะอาดๆ สักหนึ่งตัว และคอมพิวเตอร์ ไม่มากไปกว่านี้ อ้อ…. อาจจะมีแก้วน้ำดื่มอีกอย่าง ส่วนบรรดาขนมนมเนย แฟ้มงานอื่นๆ สารพัด หรือแม้แต่โต๊ะทำงานของใครอื่นๆ ก็ไม่ควรมีอยู่
เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย คุณจะทำงานให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีสมาธิจดจ่อได้ และในการจะเริ่มงาน อย่าลืมเปิดโหมด “ห้ามรบกวน” กับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ของคุณด้วย ทำงานเสร็จค่อยปิดการใช้งานโหมดนี้
7. ต้องตั้งใจ
ทั้งหมดทั้งมวล ทุกเทคนิคที่บอกไป จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ หากคุณไม่เอาจริงที่จะสร้างสมาธิให้จดจ่อกับงาน และปรารถนาจะพ้นจากภาวะว้าวุ่นใจ แอพไหน หรือเทคนิคไหนก็เอาไม่อยู่
คุณต้องมีความตั้งใจกำหนดช่วงเวลาเพื่อทำงานที่ไม่อนุญาตให้ใครมารบกวน ถ้าปราศจากความตั้งใจจริง คุณก็จะเพลิดเพลินกับการอ่านข่าวสาร บทความต่างๆ มากมายเท่าที่คุณต้องการอยู่นั่นแล้ว หรือเอาแต่เช็กเมล์ เช็กข้อความที่ไหลเข้ามาสู่เครื่องมือสื่อสารของคุณ
คุณจะถูกรบกวนแบบที่คุณเองเป็นคนยอมให้มันเกิดขึ้น แล้วจะมาทุกข์ มาโอดครวญว่า ทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่ทัน มีงานพอกพูนมหาศาล ก็คงไม่มีใครจะเห็นใจคุณหรอกนะ บอกเลย ……
………………………………………………..
แปลและเรียบเรียงจาก — 7 Techniques to stay focused and avoid distraction —
www.lifehack.org
Category: