ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีหรอกนะที่เราจะถูกใจไปหมดกับทุกคนที่ได้เจอ  บางคนเห็นหน้าปุ๊บถูกชะตาปั๊บ บางคนยังไม่ทันเห็นหน้า ก็รู้สึกไม่อยากเสวนาด้วยเสียแล้ว เลี่ยงได้เป็นรีบเลี่ยง

แต่…..ถ้าคนๆ นั้น เป็นคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า เป็นยัยตัวร้ายหรือนายตัวแสบประจำออฟฟิศในสายตาคุณ แต่เจ้านายมอบหมายให้ทำงานร่วมกัน !!! เราจะทำอย่างไรดี ????

ไม่ต้องกังวลไป ลองทำตามคำแนะนำ 11 ข้อต่อไปนี้ คุณจะผ่านไปได้อย่างสบาย พร้อมความสำเร็จในการทำงาน

  1. ยอมรับว่า ไม่มีใครชอบทุกคนที่ได้พบ

เป็นเรื่องธรรมดา และ “โอเค” มากๆ ที่จะยอมรับว่า “คุณไม่ชอบขี้หน้าเพื่อนร่วมงานบางคนและทำงานร่วมกันไม่ได้” การที่คุณไม่ชอบใครสักคน ไม่ได้ทำให้คุณเป็นตัวร้าย หรือทำให้เขาเป็นตัวน่ารังเกียจ สิ่งที่คุณต้องทำคือ หาวิธีที่จะไปด้วยกันให้ได้เพื่อให้ทำงานสำเร็จ และการไม่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก ยังช่วยลดอารมณ์รุนแรงที่นำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ต่อกันได้

  1. “สติ” ช่วยให้เรารอดจาก “ยัยตัวร้าย/นายตัวแสบ”

การจัดการกับยัยตัวร้าย/นายตัวแสบที่กวนอารมณ์คุณให้ขุ่นมัว ต้องมี “สติ”สมอ คนแย่ๆ ทำให้คุณหัวหมุนได้ก็ต่อเมื่อคุณยอมให้เขากระทำ พึงระลึกว่า มีแต่คุณเท่านั้นที่มีอิทธิพลเหนือจิตใจตนเอง ถ้าคุณมีสติ เขาก็ทำอะไรคุณไม่ได้

การทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้คุณ “ไม่สนใจ” หรือ “ไม่รับรู้” ว่าเขาทำให้คุณรู้สึกอย่างไร

เพียงแค่อย่าไปยึดติดกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นก็พอ “รู้” แล้วปล่อยผ่านมันไป และจำไว้ว่า บางครั้งคุณแค่ยิ้ม และพยักหน้ากับสิ่งที่เขาทำ แต่ไม่จำเป็นต้องติดหล่มอารมณ์ทางลบ

  1. เก็บอารมณ์ ปฎิบัติต่อกันอย่างผู้มีอารยะ

เรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่น อย่างผู้มีอารยะและสุภาพ ทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องเห็นด้วยกับคนที่คุณไม่ชอบ หรือเออออไปกับสิ่งที่เขาพูด คุณแค่ต้องรักษามารยาทเวลาต้องมีปฎิสัมพันธ์กับพวกเขา

จงมีท่าทีที่นุ่มนวลสุภาพกับคนที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ด้วย และต้องหนักแน่นในจุดยืนของตน  ความหมายก็คือ คุณต้องโฟกัสเฉพาะประเด็นหรือเรื่องที่ต้องทำ ตัดเรื่องของตัวบุคคลออกไป หากคุณทำได้แบบนี้อย่างสม่ำเสมอ คุณจะเป็นมืออาชีพ ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ และนี่จะทำให้คุณ “เหนือชั้นกว่า” ในการเป็นผู้คุมสถานการณ์

  1. อย่าเอาเรื่องงานมาปะปนกับเรื่องส่วนตัว

คนเรามักทำสิ่งต่างๆ เพื่อตัวเอง มีน้อยคนที่จะทำเพื่อคนอื่น บางคนก็เพียงตอบสนองเรื่องต่างๆ ตามบริบทชีวิตที่เป็นอยู่ แต่ถ้าบังเอิญคุณเข้ามาอยู่ตรงกลางของเรื่องนั้น จงพยายามมองสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยมุมมองที่กว้าง ยิ่งคุณมองกว้างเท่าใด โอกาสลดความเข้าใจผิดต่อกันก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

คุณอาจเลือกเป็นฝ่ายรุก เริ่มต้นการเจรจาก่อน ซึ่งต้องคิดหาวิธีโต้ตอบกับอีกฝ่ายอย่างสงบและรอบคอบ พยายามพิจารณาความเป็นไปได้หลายๆ ทาง และทางที่ดีควรมีภาพชัดๆ ในหัวว่า จะตอบสนองอีกฝ่ายด้วยวิธีใด

และระลึกไว้เสมอว่า สถานการณ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. คนที่คุณกำลังสื่อสารด้วย และ 2.ประเด็นที่คุณกำลังสื่อสารหรือหารือกัน จำไว้ว่า ให้เพ่งความสำคัญที่หัวข้อการหารือ อย่าไปยึดติดกับตัวบุคคล ที่คุณไม่ชอบหรือรู้สึกว่าศรศิลป์ไม่กินกัน

  1. ทำตัวเหนือชั้นหรือลงไปคลุกฝุ่นด้วย?

มันง่ายที่จะ “โต้ตอบและสาดอารมณ์ใส่กัน” โดยเฉพาะหากเขาทำสิ่งที่คุณรู้สึกว่า “งี่เง่า”  และทำให้คุณ “ขัดใจ” แต่หากคุณเลือกลงไปคลุกฝุ่นกับเขา แล้วสุดท้ายเกิดข้อพิพาทกันขึ้น คุณจะถูกเหมารวมจากคนอื่นๆ ในองค์กรว่า คุณก็เป็น “ตัวปัญหา” ไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น อย่าเป็นทาสอารมณ์ หรือยอมให้ตัวเองกลายเป็นตัวตลก จงจำไว้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องตอบสนองกับสิ่งแย่ๆ ของเขา คุณเลือกได้ที่จะอยู่เหนือปัญหานั้น พุ่งความสนใจไปที่ข้อเท็จจริง รวมถึงตอบสนองอย่างมีเหตุมีผล ชี้ให้ชัดว่า ปัญหาคืออะไรแล้วจัดการแก้ไขซะ และทำอย่างมีชั้นเชิงด้วย

  1. แสดงความรู้สึกอย่างสงบ

ปัญหาเล็กๆ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากวิธีการสื่อสารไม่เหมาะสม หากความประพฤติหรือวิธีการสื่อสารของอีกฝ่ายรบกวนคุณ ทำให้คุณยุ่งยากใจ อาจถึงเวลาที่ต้องคุยกันแบบ “เปิดอก” ว่าคุณรู้สึกอย่างไร โดยยึดหลักสำคัญคือ คุยอย่างสงบ ไม่ปะทะกัน และมุ่งประเด็นที่จะจัดการเท่านั้น อย่าวอกแวก

เลือกใช้ภาษาที่ไม่ฟังดูเป็นการซ้ำเติมหรือกล่าวโทษกัน เลือกใช้คำว่า “ฉัน” เป้าหมายของการสื่อสารครั้งนี้คือ พูดให้ชัดเจนว่า คุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาทำและต้องการให้เขาทำอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไข

ตัวอย่างการเลือกใช้คำพูดเช่น “เมื่อคุณ (ทำอะไรสักอย่าง) …….ฉันรู้สึก………ฉันอยากขอให้คุณทำแบบนี้……..แทนได้มั้ย

ย้ำว่า ต้องพูดชัดๆ เมื่อบอกว่าพฤติกรรมไหนของเขาที่คุณไม่สบายใจ และอะไรคือสิ่งที่คุณอยากให้เขาทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้ที่มีต่อกัน และเมื่อคุณบอกสิ่งที่คุณรู้สึกแล้ว ก็อย่าลืมรับฟังในสิ่งที่เขาพูดอธิบายกลับมาด้วย

  1. เลือกสงครามที่จะทำ

ไม่ใช่ว่า ทุกๆ เรื่อง จะคุ้มค่าพอให้คุณเสียเวลาใส่ใจ บางครั้ง การดีลกับ “ยัยตัวร้าย/นายตัวแสบ” ก็เหมือนกับการพยายามหาเหตุผลมาอธิบายเด็กวัยเตาะแตะที่กำลังงอแง ซึ่งแน่นอนว่า มันเป็นเรื่องสิ้นเปลืองพลังงานอย่างยิ่ง

จงใคร่ครวญให้ดีว่า “คุณอยากเข้าไปร่วมวงในข้อโต้แย้งนี้จริงๆ หรือไม่ หรือเลี่ยงดีกว่า”  “มันคุ้มค่าพอที่จะต่อปากต่อคำด้วยหรือไม่” หรือ “จะได้อะไรที่มีค่ามากกว่าการสู้รบปรบมือกับยัยตัวร้าย/นายตัวแสบหรือไม่”

ที่สำคัญ ต้องคิดด้วยว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดตามสถานการณ์และเดี๋ยวมันก็จะจางหายไปเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่” หรือ “คนที่กำลังโต้เถียงกับเรานี้ให้ประโยชน์แง่มุมไหนกับชีวิตของเราหรือไม่”  เพราะบางครั้งบุคลิกที่เป็นลักษณะเฉพาะของเขาอาจให้บทเรียนที่ดีบางอย่างกับคุณมากกว่าบั่นทอนหรือทำร้ายคุณก็ได้

  1. รักษาระยะห่างเอาไว้

               รักษาระยะห่างจากยัยตัวร้าย/นายตัวแสบไว้ หากห่างกันทางกายภาพไม่ได้ ก็ห่างกันทางจิตใจ

ไม่ต้องเข้ามาพัวพันกัน กำหนดไว้ในใจว่า จะมีปฎิสัมพันธ์กับเขาช่วงไหนบ้าง ช่วงไหนที่คุณจะหลีกลี้หนีหายไปจากเขา  และหากคุณรู้ว่ากำลังเข้ามาอยู่ในสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับอารมณ์ความรู้สึก ให้หายใจลึกๆ พยายามสงบใจก่อนที่จะต้องเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่น่ายุ่งยากใจนี้

  1. รวมกลุ่มกับคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน

อย่าทำสงครามเพียงลำพัง หา “ทีมสนับสนุน” ไว้ด้วยก็ดี เพราะเขาเหล่านั้นจะช่วยให้คุณเห็นภาพของสถานการณ์ที่กำลังเป็นไป และจะช่วยระดมวิธีการจัดการกับความยุ่งยากนั้นๆ ให้คุณได้

บางครั้ง คนเราไม่ได้ต้องการอะไรมาก เพียงแค่รู้ว่า มีคนสนับสนุน มีคนรับฟัง มีคนให้เราได้ปลดปล่อยสิ่งที่อัดอั้นในใจ เพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น และพร้อมจะเดินหน้าต่อไปได้

  1. เรียนรู้ที่จะปล่อยอารมณ์ให้เป็น

หากใครบางคนคอยแต่จับจ้องตอกย้ำข้อผิดพลาดของคุณ อย่ายอมให้เขากระทำอยู่ฝ่ายเดียว ลองหาทางโต้กลับ เพื่อถ่ายโอนความกดดันกลับไปที่เขาบ้าง เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมแย่ๆ

ลองตั้งคำถามแบบเจาะจงไปเลย หากเขาพยายามลบล้าง ลดทอน ดูแคลนเนื้องานของคุณ ถามให้ชัดๆ ให้เขาวิพากษ์กลับมา ให้เห็นกันเลยว่า เขาเคยสื่อสารให้คุณได้ทราบในสิ่งที่เขาคาดหวังจากงานของคุณหรือไม่

หากเขาทำอะไรไม่น่าเคารพ หรือเป็นการกลั่นแกล้งคุณ สะกิดให้เขารู้ตัว บอกให้เขารู้ว่า คุณต้องการให้เขาปฎิบัติอย่างมีอารยะ และในทางกลับกัน คุณก็ต้องปฎิบัติต่อเขาอย่างมีอารยะเช่นกัน

  1. ความสุขของคุณอยู่ในมือคุณเอง

อย่าให้ยัยตัวร้าย/นายตัวแสบ มาจำกัดความสุขหรือควบคุมความพึงพอใจของคุณ  อย่าปล่อยให้คำวิจารณ์เชิงเยาะเย้ยถากถาง หรือความกังวลใดๆ เอาชนะคุณ รวมถึงอย่ายอมให้ใครทำให้วันเวลาของคุณหม่นเศร้า

จำไว้เสมอว่า คุณมีอำนาจเต็มในการควบคุมตัวคุณ และสภาพจิตใจของคุณเอง หยุดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น และตระหนักว่า คุณค่าของตัวคุณมาจากสิ่งที่อยู่ภายในตัวคุณ

…………………………………………………………..

แปลมาจาก 11 Ways successful people deal with people they don’t like ( www.entrepreneur.com  )

Category:

Passion in this story