เมื่อสังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายๆอย่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน  การรุกคืบของเทคโนโลยีที่เข้ามากระทบต่อชีวิตประจำวัน และการขาดเงินออมเพื่อความมั่นคงระยะยาว สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย แล้วเราจะปรับตัวรับมือแต่ละเรื่องอย่างไร วันนี้ passion gen จึงหยิบประเด็นเชิงแนวคิดเหล่านี้มาฝากกัน เป็นการส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับความท้าทายใหม่ๆ ที่รออยู่ในวันข้างหน้า

เริ่มที่ตัวเราเอง

เริ่มจากเรื่องเศรษฐกิจก่อนเลย ตามที่หน่วยงานต่างๆและผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์กันไว้ว่าในปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตไม่เกิน 3% นับเป็นตัวเลขการขยายตัวต่อปีที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา ที่น่าตกใจมาก คือปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยได้เพิ่มสูงขึ้นไปแตะ 78.8% ต่อ GDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศสูงถึง 5 แสนคน ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจของประเทศกำลังถูกบีบคั้น จากสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยมีความท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก

ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจรากหญ้าก็วิกฤติเช่นเดียวกัน ปัญหาต่างๆเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนจำนวนมาก เพราะรู้สึกไม่มีความมั่นใจในอนาคตของตัวเอง ทำให้คนจำนวนมากไม่ใช้จ่ายเงิน หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงปัญหา อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ทุกๆปัญหาสามารถจัดการได้ การแก้ปัญหาง่ายๆเพื่อรับมือกับเรื่องเศรษฐกิจจะต้องเริ่มจากตัวเราก่อน

สำหรับมนุษย์เงินเดือน สามารถสู่กับวิกฤติเศรษฐกิจได้ง่ายๆ จากเดิมที่เคยกินกาแฟแก้วละแพงๆก่อนเข้าทํางาน หรือชื่นชอบการเฉลิมฉลองหลังเลิกงานก็ต้องลดจำนวนลง การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวอาจจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นให้มากขึ้น สินค้าชิ้นใหญ่ราคาแพงหรือสินค้าหรูหราทั้งหลายคงต้องหยุดไปเลย และต้องไม่ตกหลุมพรางการโฆษณาและโปรโมชั่นต่างๆ

สำหรับคนที่ต้องผ่อนบ้านผ่อนรถอยู่แล้ว จึงต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องสำรองเงินฉุกเฉินมากกว่าที่เคยทำอยู่ การใช้รถประจำทาง และการปรุงอาหารจากที่บ้านไปที่ทำงาน อาจจะเป็นทางเลือกหลักๆในยามนี้เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ส่วนคนที่มีเงินเย็นอยู่แล้ว อาจะปรับแผนการเก็บออมโดยมองหาช่องทางที่จะเพิ่มพูนผลประโยชน์มากกว่าที่เคยทำอยู่ แต่อย่าลืมพิจารณาถึงสิทธิทางภาษีและผลตอบแทนโดยรวมประกอบด้วย อย่างไรก็ดี มีคนที่มีกำลังซื้อจำนวนไม่น้อย เพิ่มการลงทุนให้กับตัวเองในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากราคาทรัพย์สินถูกลงและยังสามารถต่อรองราคาได้มากขึ้น

รับมือความเครียด

สำหรับปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสังคมไทยจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไป เพราะมีสัญญาณเตือนภัยมาจากองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจมีการลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีก ผลที่ตามมาก็คือภาวะเศรษฐกิจแต่ละคนจะฝืดเคืองจนนำไปสู่ความเครียดและความวิตกต่างๆ

จากผลการสำรวจทัศนคติของคนไทยในยุควิกฤตเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนไทยทุกเพศทุกวัยมีความเครียดมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วัยเรียนและวัยชรา คนกลุ่มนี้มองว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นต้นเหตุอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้กลุ่มวัยรุ่น Gen Y เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากวันรุ่นเหล่านี้มีหนี้สินค่อนข้างเยอะ เพราะพวกเขาบอกว่าการหาประสบการณ์ให้กับชีวิต สำคัญกว่าการทำงานและเก็บออม ทำให้คนกลุ่มนี้ก่อหนี้จำนวนมหาศาล ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่ากำลังซื้อไม่ถึง สินค้าที่กลุ่ม Gen Y นิยมส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ ที่แสดงถึงการมีรสนิยมที่่ดี รวมไปถึงการท่องเที่ยว แต่กลับไม่มองระยะยาว

โรคมือถือแก้ได้

นอกจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนทั่วไปแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามาบั่นทอนสังคมไทย นั่นคือโรคสังคมก้มหน้า อันเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เรียกได้ว่าเป็นโรคสมัยใหม่ของคนยุคใหม่ก็ว่าได้ ถึงแม้ทุกคนจะรู้ดีว่าเทคโนโลยีใหม่ๆคือเครื่องมือสำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าใช้เวลากับมันมากจนเกินไปจนเรียกกันว่าสังคมก้มหน้า ก็จะนำปัญหาต่างๆย้อนกลับมา เช่นการเสียเงินมากโดยไม่จำเป็น การเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่ได้อยู่ในโลกเสมือนจริง รวมไปถึงเรื่องสุขภาพด้วย

ข้อสังเกตว่าเราเป็นโรคสังคมก้มหน้าหรือไม่ ให้สังเกตจากอาการตัวเองว่ามีความวิตกกังวลกระสับกระส่ายเพราะหาสมาร์ทโฟนไม่เจอหรือไม่ หรือรู้สึกแย่เมื่อโทรศัพท์กำลังจะหมดแบตเตอรี่ บางครั้งจะรู้สึกปวดหัวรุนแรง ปวดตา หรือแสบตา สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายที่จะเป็นโรคสังคมก้มหน้า

ผู้เชี่ยวชาญได้แบ่งโรคสังคมก้มหน้าออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพอันเกิดจากการใช้โทรศัพท์มากเกินไป เช่น อาการปวดตา ตาแห้ง ปวดศีรษะ ปวดคอมากผิดปกติ
วิธีแก้คือต้องไปพบแพทย์และลดการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือให้ได้ไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมง ควบคู่กับการดูแลอาหารการกินประเภทผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เป็นต้น

อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า โมโนโฟเบีย ซึ่งอาจสามารถสังเกตได้จากอาการกลัวและวิตกกังวลมากกว่าคนปกติเช่น การเช็คโทรศัพท์ตลอดทั้งวันอาการหงุดหงิดรุนแรงเมื่อโทรศัพท์แบตหมด หรือแม้กระทั่งการวางโทรศัพท์ไว้ข้างตัวเวลานอน บางครั้งอาจถึงขั้นเครียดจัด อาเจียน และตัวสั่น ปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่

ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป จะส่งผลกระทบเมื่ออยู่ในสังคมที่มีคนจำนวนมาก คนที่มีปัญหานี้มักมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ใส่ใจผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ตลอดจนไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากคนไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันจากการหลอกลวงของคนภายนอก

นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำว่าการรับมือกับปัญหาสังคมก้มหน้าจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตัวเองเสียใหม่ อย่างแรกเลย คือการลดเวลาเล่นโทรศัพท์ แล้วหันไปทำกิจกรรมอื่นๆพบปะผู้คนมากขึ้น เช่น การเดินทางท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การนั่งสมาธิ  การพบปะเพื่อนฝูงตามร้านกาแฟหรือร้านอาหาร จะช่วยปรับชีวิตกลับเข้าสู่ปกติได้

ออมก่อนมั่นคงก่อน

สำหรับคนที่ต้องการเก็บเงินออมเพื่อความมั่นคงในระยะยาว ก็สามารถเริ่มออมได้เลยไม่ต้องต้องให้อายุเยอะขึ้นหรือมีรายได้สูงๆ เหตุที่เตือนในเรื่องนี้ก็เพราะว่าเมื่อหันกลับไปดูสังคมผู้สูงอายุก็จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเพียงพอในบั้นปลายชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถเกษียณตัวเองได้ ความหมายคือจะต้องทำงานหาเงินต่อไปเรื่อยๆ เมื่อทำงานมากขึ้นก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย หากเกิดการเจ็บป่วยก็จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินจำนวนมาก หากไม่อยากเจอปัญหาเหล่านี้ ก็สามารถเก็บออกตั้งแต่เนิ่นๆเรียกว่าออมก่อนก็มั่นคงก่อน

ทั้งหมดนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการรับมือสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และคาดว่าความท้าทายเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกแน่นอน แต่การมองเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ น่าจะช่วยจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เตรียมความพร้อมเพื่อการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ต่อไป


Category:

Passion in this story