อีคอมเมิร์ซ (E-commerce)  ทำให้ผู้ประกอบการอิสระสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ยังช่วยลดภาระการเข้าสู่ธุรกิจซึ่งแต่เดิมต้องอาศัยองค์ประกอบมากมายตั้งแต่สถานที่ไปจนถึงบุคคลากรและยังเพิ่มโอกาสขยายเครือข่ายธุรกิจให้ยิ่งแข็งแกร่ง

อินโดนีเซีย  ได้ชื่อว่าเป็นประเทศตัวอย่างในแง่การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตัวเลขการสำรวจล่าสุดของแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี พบว่า ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินโดนีเซีย  270 ล้านคน ชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่า แนวโน้มการจับจ่ายในช่องทางนี้จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ผลสำรวจชี้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า อินโดนีเซียจะมีนักช็อปออนไลน์ทั้งสิ้น 44 ล้านคน และตลาดออนไลน์จะมีมูลค่าสูงถึง 55 – 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ กูเกิ้ล และ เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ตลาดออนไลน์ของอินโดนีเซียจะมีมูลค่าราว 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่สำคัญ การตัดสินใจยกเลิกมาตรการเก็บภาษีการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ยิ่งส่งผลดีต่อตลาดออนไลน์ในอินโดนีเซีย ให้สามารถพัฒนาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ต่อไป

โอกาสอยู่ที่ใด?

ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 103 ล้านคน และมูลค่าการใช้จ่ายรวมผ่านช่องทางออนไลน์ เฉลี่ยปีละ 228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ทั้งในด้านของรายได้และดอกเบี้ย

รายงานPPRO High-Growth Market Reports 2018”  ระบุว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่าตลาดถึง 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนรายงานจาก Merchant Machine เผยว่าในปีที่ผ่านมา อัตราการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 โดยมีการใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยว และเสื้อผ้ามากที่สุด

 

ผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่นอกตัวเมือง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้ามาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

รายงานของ แมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า นอกจากอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังปลดล็อกผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน “The Digital Archipelago: How Online Commerce is Driving Indonesia’s Economic Development”  ที่ระบุว่า การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่นอกเกาะชวา สามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับการจับจ่ายผ่านค้าปลีกระบบดั้งเดิมถึง 11 – 25 เปอร์เซนต์

แน่ชัดว่า ธุรกิจออนไลน์ช่วยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวสามารถลดภาระต้นทุนสินค้าคงคลังหรือการมีปริมาณสินค้าน้อยๆ กระจายในหลากหลายพื้นที่ลงไปได้มาก แม้จะยังคงมีความผันแปรอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเครือข่ายกระจายสินค้าในท้องถิ่นที่มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอกัน และค่าขนส่งสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น กรณีที่ต้องส่งของไปยังพื้นที่ห่างไกล

ส่วนบริเวณพื้นที่เกาะชวา ซึ่งผู้บริโภคสามารถประหยัดได้ราว 4 – 14 เปอร์เซ็นต์ เป็นเขตที่เครือข่ายการกระจายสินค้าพัฒนาไปมากแล้ว  ส่งผลให้มีอัตราการประหยัดต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แต่การประหยัดก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขตเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น เพราะบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกซึ่งมีหน้าร้านยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนที่ดิน และค่าแรงงานที่สูง ขณะที่ต้นทุนการส่งสินค้าต่ำกว่า เพราะมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ใกล้ๆ

สำหรับการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มากกว่าร้อยละ 55 มาจากมหานครจาการ์ตา (Greater Jakarta) ซึ่งตลาดค้าปลีกบนโลกออกไลน์มีการพัฒนาสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยภาคครัวเรือนในกรุงจาร์กาต้ามีอัตราการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าพื้นที่อื่นๆ บนเกาะชวา 4 เท่า และมากกว่า 10 เท่า ของการใช้จ่ายจากพื้นที่นอกเกาะชวา ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีอัตราการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่ สูงกว่าการใช้จ่ายในกรุงจาการ์ตาร้อยละ 10  ซึ่งหากธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายออกไปนอกเขตมหานครจาการ์ตา และมีการเสนอทางเลือกตลอดจนราคาที่ดีกว่า อัตราการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใหม่อาจเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 30

มากกว่าเงินตรา

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสร้างประโยชน์อย่างมีนัยยะสำคัญให้สังคมอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเพิ่มพลังให้แก่ผู้หญิง เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปมีบทบาทด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

รายงานของแมคคินซีระบุว่า  การเข้ามาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย ส่งผลดีต่อสังคม และเศรษฐกิจ 4 เรื่องคือ 1. ผลประโยชน์ด้านการเงิน 2.การสร้างงาน 3.ผลประโยชน์ต่อผู้ซื้อ และ 4.ความเท่าเทียมทางสังคม  ซึ่งทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ย้ายออกจากการซื้อขายแบบออฟไลน์ไปสู่การซื้อขายทางออนไลน์ จะทำให้มีเกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น 30 เซ็นต์ และผู้บริโภคจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 10 เซ็นต์

“ใน 5 ปีข้างหน้า เราคาดว่า จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้น 6 เท่า จะมีปริมาณชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดเพิ่มขึ้น 9 เท่า จะมีตำแหน่งงานบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้น 6 เท่า จะมีธุรกิจออนไลน์ขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว (Online MSME) มากขึ้น 2 เท่า และจะมีผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจากที่เคยมีมา” รายงานระบุ

…………………………………..

แปล และเรียบเรียงจาก

https://www.entrepreneur.com/article/331838

Category:

Passion in this story