องค์กร ของคุณอยู่ในสภาพเช่นนี้หรือไม่ ?

  • อัตราการลาออกสูง
  • พนักงานเครียดจนป่วยจำนวนมาก
  • พนักงานจับกลุ่มนินทา เล่นงานกันลับหลัง

ถ้าใช่ แสดงว่า องค์กรและพนักงานกำลังมีปัญหาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient –EQ หรือ Emotional Intelligence- EI) !  ซึ่งปัจจุบันนี้  เป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคลอีกต่อไปแล้ว

 

ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในที่ประชุม World Economic Forum หรือ สภาเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่า ในปี 2020 นี้ ความฉลาดทางอารมณ์ จะเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ

 

 

อะไรคือ “ความฉลาดทางอารมณ์” ?  คำนี้หมายถึงการรู้จักและเข้าใจอารมณ์ตนเอง รู้ว่า ตนเองกำลังมีความสุข กำลังเศร้า ทุกข์ใจ หรือหงุดหงิดใช่หรือไม่?

 

 

คำตอบคือ “ ไม่ใช่ ” นั่นเป็นเพียง 1 ในองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าความฉลาดทางอารมณ์ ที่ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ

  •  การรู้จักตนเอง Self-Perception
  •  การแสดงลักษณะเฉพาะตัว Self-Expression
  •  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal
  •  การตัดสินใจ Decision Making
  •  การจัดการกับความเครียด Stress Management

 

พูดง่ายๆ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง เข้าใจอารมณ์ตนเอง สามารถแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเองอย่างอิสระ พร้อมกับวุฒิภาวะที่สามารถพอใจกับความสัมพันธ์ที่มีกับคนทั่วไป มีความสามารถในการตัดสินใจ สามารถบริหารความเครียด และกล้าเผชิญอนาคตด้วยมุมมองเชิงบวก

 

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะสามารถใช้ชีวิตทั้งในเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวได้อย่างมีคุณภาพ

หัวหน้างานทั้งหลาย จึงควรให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์ของพนักงานด้วย เพราะทีมงานที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นทีมงานที่มีสุขภาพดี ผลิตผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมงานที่ทุกคนมีความฉลาดทางอารมณ์จะสื่อสารกันอย่างดี กระตือรือร้น และจดจ่อกับการทำเป้าหมายที่กำหนดไว้ในกระดาษให้เป็นจริง รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเพื่อนร่วมงาน และแน่นอน ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะผลักดันให้องค์กรของคุณเดินหน้า รวมถึงสามารถรักษาพนักงานคุณภาพให้อยู่กับองค์กรได้นานๆ

 

แล้วจะประเมินอย่างไรว่า องค์กร หรือ คนในองค์กร มีความฉลาดทางอารมณ์ ?

หลักการง่ายๆ คือ หากพบสิ่งต่อไปนี้ในองค์กร ให้พึงรู้ว่า มันคือสัญญาณบอกให้คุณต้องเร่งจัดการเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ในองค์กรได้แล้ว

  • มีอัตราการลาออกสูง
  • มีการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดเกิดขึ้นบ่อยกับคนในองค์กร
  • มีวัฒนธรรมการจับกลุ่มนินทา หรือพฤติกรรมลอบทำร้ายกันลับหลัง
  • มีช่องว่างในการสื่อสารระหว่างผู้จัดการกับผู้ใต้บังคับบัญชา
  • เมื่อมีการทำสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น บทลงโทษจะรุนแรง
  • มีพนักงานบางคนเท่านั้นที่เป็นคนโปรด ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เหลือ ถูกละเลย หลงลืม
  • ไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระดับบุคคลและความสามารถในการทำงาน
  • องค์กรขาดพนักงานที่มีความหลากหลาย

องค์กรจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร หากมีพนักงานจำนวนมากลาออกกันทุกเดือน เพราะพวกเขารู้สึกว่าโดนรังแกจากผู้จัดการ หรือเมื่อผู้บริหารไม่สามารถจ้างพนักงานที่มีความสามารถหลากหลายเข้ามาร่วมงานได้ในช่วง 5  ปีที่ผ่านมา จนทำให้ขาดมุมมองสำคัญ และถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังในเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ

ในฐานะผู้นำ การยกระดับความฉลาดทางอารมณ์ของคุณเองเป็นเรื่องแรกที่ควรทำ เพราะการยกระดับความฉลาดทางอารมณ์และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในทุกระดับ ทำให้คุณเป็น “มนุษย์” ที่พร้อมทำงานและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

 

 

ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัล โนเบลไพรซ์ สาขาสันติภาพ และผู้ก่อตั้ง กรามีนแบงก์หรือธนาคารหมู่บ้านของบังกลาเทศ กล่าวในงาน Social Business Day ที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า “ ธุรกิจที่มีความเป็นมนุษย์ ” คือการแสวงหากำไร ขณะเดียวกับที่แบ่งปันสังคมและสร้างความสุขให้กับผู้อื่นด้วย

นี่ก็คือเรื่อง EI เหมือนกัน

เริ่มที่ตัวคุณ แล้วส่งเสริม-สนับสนุนให้พนักงาน ผู้ที่ทำงานให้คุณทุกๆ คน สามารถพัฒนา “ความฉลาดทางอารมณ์” องค์กรของคุณจะไปได้รอด และไปได้ไกล ไม่ว่า สภาพการแข่งขันในธุรกิจของคุณจะเป็นเช่นไร

หากอยากไปเร็ว ให้ไปคนเดียว

แต่หากอยากไปได้ไกล ต้องไปด้วยกัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

Why Emotional intelligence can make or break your organization 
www.entrepreneur.com 

"ยูนุส" กับ "ธุรกิจเพื่อสังคม" ความสุขที่ยิ่งกว่ากำไรของนักธุรกิจ
www.prachachat.net

Category:

Passion in this story