Categories: WISDOM

แค่โดนเธอหลอกก็พอแล้ว มาทำความรู้จัก Fact Checking เพื่อรับมือกับการหลอกลวง (จากข่าวปลอม)

4 / 5 ( 1 vote )

ใช่ว่ามีแต่คนสมัยนี้ที่ถูกหลอกจากข่าวปลอมซะที่ไหน ข่าวปลอมอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เราเริ่มสื่อสารกันรู้เรื่องนั่นแหละ แต่ข่าวปลอมได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในยุคที่สื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และดูเหมือนปัญหาจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะการแพร่กระจายข่าวที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่ายุคไหน ๆ

ในปัจจุบัน โลกออนไลน์ได้ทำลายข้อจำกัดในการเผยแพร่ข้อมูลและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้คนในปัจจุบันไปอย่างมาก ข้อมูลการสำรวจของสวนดุสิตโพล ระบุว่าประชาชนติดตามข่าวสารจากช่องทางโซเชียลมีเดีย social media (ทั้ง Facebook และ Twitter) ถึง 68.27% มากกว่าหนังสือพิมพ์ที่ 35.08% ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ว่าใครก็สามารถโพสต์ได้ในโซเชียลมีเดีย ทำให้ในแต่ละวันมีข้อมูลข่าวสารในปริมาณมหาศาลและขาดการตรวจสอบ

ด้วยสภาพการณ์ที่แทบจะไร้การกำกับเช่นนี้ นำมาซึ่งปัญหาข่าวปลอม (Fake news) ที่ระบาดไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ สร้างความเกลียดชังต่อคนบางกลุ่ม หวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงส่งผลเสียต่อการรักษาโรคและสุขภาพจากข้อมูลผิด ๆ ที่ได้รับมา

วันนี้ PassionGen จะพาไปทำความรู้จักกับ การตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) หนึ่งในวิธีการรับมือกับข่าวปลอม และพาไปดูวิธีการเบื้องต้นที่จะใช้แยกแยะข่าวจริงออกจากข่าวปลอม เพื่อรับมือกับคำลวงที่มีอยู่มากมาย และสร้างความรู้เท่าทันในการรับข้อมูลข่าวสารให้กับทุกคน

ทำไม Fact Checking ถึงสำคัญในโลกทุกวันนี้

คำตอบง่าย ๆ ก็เพราะว่ามันมีข่าวปลอมน่ะสิ

ในโลกทุกวันนี้ที่ข่าวจริงและข่าวปลอมอยู่ปะปนกันเต็มไปหมด คุณไม่มีทางรู้ได้ง่าย ๆ เลยว่าข่าวที่คุณได้ยินมาเป็นข่าวจริงหรือไม่ และข่าวปลอมเดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนข่าวจริงซะจนแยกไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวต่าง ๆ และในปี 2015 ได้มีการก่อตั้ง เครือข่าย The International Fact Checking Network ขึ้น

เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรอิสระด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทั่วโลก ซึ่งช่วยพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้องค์กรเหล่านี้ แบ่งปันองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างกัน รวมถึงเป็นกระบอกเสียงเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ

ในอนาคต Fact Checking จะทวีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพราะมีประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงปริมาณการรับส่งข้อมูลที่ขยายเพิ่มขึ้น และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้คนสามารถใช้เวลากับโลกออนไลน์ได้มากขึ้น พวกเขาไม่จำเป็นรอดูข่าวจากในโทรทัศน์ หรือรออ่านจากหนังสือพิมพ์ตอนเช้าเหมือนในอดีต

ด้วยจำนวนแหล่งข้อมูลที่มีมากมาย ทำให้จำเป็นต้องมีองค์กรที่มีทักษะเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเป็นหน่วยงานอิสระ มาช่วยทำหน้าที่กรองข้อมูลดี ออกจากข้อมูลเสีย ตรวจสอบว่าอันไหนคือข่าวปลอม และอันไหนคือข่าวจริง เพื่อป้องกันไม่ให้ข่าวปลอมแพร่กระจายในวงกว้าง

บทบาทในการตรวจสอบเป็นของสื่อเท่านั้นหรือ?

แม้ว่าสื่อจะถูกฝึกให้เช็คข้อมูลข่าวสารก่อนจะนำเสนอข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นหน้าที่ของสื่อเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันประชาชนคนธรรมดาก็สามารถมีส่วนช่วยในการตรวจสอบได้ เช่น ในกรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ นักข่าวไม่สามารถลงพื้นที่ได้ทุกที่แน่นอน คนที่อยู่ในพื้นที่สามารถเช็คข้อมูลข่าวสารหรือส่งข้อมูลขึ้นมาบนแพลตฟอร์มได้ และทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การจะบอกข่าวไหนจริงหรือไม่จริง ก็จำเป็นต้องมีคนที่มีทักษะการทำงาน Fact Checking ยืนยันความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง เพราะคนทั่วไปอาจจะไม่มีเวลา หรือมีทักษะในการตรวจสอบ ที่สำคัญคืออาจจะไม่มีความน่าเชื่อถือ

นักตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้รู้แล้วว่า Fact Checking นั้น สำคัญและจำเป็นอย่างไรกับโลกทุกวันนี้ ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ในตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checker ก็ย่อมสำคัญไม่แพ้กัน เป็นอาชีพที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว หน่วยงานเอกชน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ

หลายหน่วยงานมองหาคนที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์ในการทำหน้าที่ Fact Checking ทั้งนี้ คนที่เป็น Fact Checker ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง เราสามารถเป็น Fact Checker เฉพาะในสาขาที่เราถนัดและเชี่ยวชาญ เช่น เรื่องการเงิน เรื่องสุขภาพ หรือภัยพิบัติ แล้วก็มาให้องค์กรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับรองมาตรฐาน ยืนยันความถูกต้องของการตรวจสอบข้อมูล

ทักษะที่ Fact Checker จำเป็นต้องมี

แน่นอนว่าคนที่จะมาเป็น Fact Checker จำเป็นที่จะต้องมีทักษะเฉพาะเพื่อการตรวจสอบข้อมูลอย่างแม่นยำ คงเกิดปัญหาใหญ่แน่ ๆ หาก Fact Checker กลายเป็นคนปล่อยข่าวผิด ๆ ออกไปเสียเอง แต่แล้วเราจำเป็นจะต้องมีทักษะอะไรบ้างล่ะในการเป็น Fact Checker

Baybars Orsek ผู้อำนวยการของ The International Fact Checking Network

Baybars Orsek ผู้อำนวยการของ The International Fact Checking Network ได้กล่าวว่า ทักษะสำคัญที่ Fact Checker จำเป็นต้องมี

ประการที่ 1 คือ ความช่างสงสัย ต้องสงสัยในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น อย่าเชื่อให้ทุกสิ่งที่ได้ฟัง

ประการที่ 2 คือ ทักษะพื้นฐานของนักหนังสือพิมพ์

ประการที่ 3 ความเชี่ยวชาญในเรื่องสื่อดิจิทัล ต้องชำนาญในเครื่องมือที่ใช้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรูปภาพ วิดีโอ หรือเนื้อหาต่าง ๆ ได้

รวมถึงยังต้องสามารถพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้ก้าวตามพัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ให้ทัน ต้องเรียนรู้ว่ามีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะสามารถช่วยในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในกระบวนการการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จำเป็นที่จะต้องมีความโปร่งใส คือ

1. ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าเช็คยังไง

2. ต้องโปร่งใสในการหาแหล่งข่าวว่าไปหามาจากแหล่งข่าวไหน

3. ต้องโปร่งใสในเงินที่ได้รับมาด้วย ว่าได้มาจากใคร จากที่ไหน

ดูยังไงว่าเป็นข่าวปลอม?

ถึงแม้จะมี Fact Checker ไว้คอยตรวจสอบข่าวจริงข่าวปลอมให้เรา แต่ก็คงจะดีกว่าถ้าเราสามารถดูได้ด้วยตัวว่าควรจะเชื่อข่าวไหน ข่าวไหนเป็นข่าวปลอม ข่าวไหนเป็นข่าวจริง

เรามีวิธีการง่าย ๆ เพื่อดูว่าข่าวที่เราพบเจอน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นข่าวปลอมหรือเปล่า ดังนี้

1. วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การดูที่ URL ที่แชร์มา ว่าใช่สำนักข่าวจริงหรือไม่ แหล่งที่มาของข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน

2. ดูความสมเหตุสมผลของเนื้อหาข่าว ดูก่อนว่าจากเนื้อข่าวแล้วมีความเป็นไปได้หรือไม่ เป็นเหตุเป็นผลกันไหม

3. ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าว หรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เพื่อดูว่าข้อมูลที่เราเจอนั้น ตรงกับสื่ออื่นหรือไม่ ยิ่งมีแหล่งข่าวที่ยืนยันข่าวตรงกันมากเท่าไหร่ ข้อมูลนั้นก็ยิ่งน่าเชื่อถือมากเท่านั้น

นี่เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นที่เราจะรู้ว่าสามารถเชื่อถือข่าวนี้ได้แค่ไหนเท่านั้นเอง การตรวจสอบความถูกต้องอย่างแน่นอน ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ปัญหาข่าวปลอมเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจำกัดต้องมีการจัดการควบคุม ไม่ให้มันแพร่กระจายและสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีก การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบของเท็จจริงของข้อมูล คือ อีกหนึ่งวิธีการในการรับมือกับปัญหาการระบาดของข่าวปลอม แต่สิ่งที่เราทำได้และควรทำอย่างยิ่ง คือ การรู้เท่าทันสื่อและไม่ส่งต่อข่าวปลอมนั่นเอง เพราะแม้จะมีองค์การที่คอยตรวจสอบให้เราอยู่ แต่ก็ไม่มีทางจับได้ไล่ทันข่าวปลอมที่มีอยู่มากมายมหาศาลและปรับเปลี่ยนกลวิธีอยู่ตลอดเวลาได้


 

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

9 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

1 year ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

1 year ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

1 year ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

2 years ago

This website uses cookies.