passion gen เคยนำเสนอบทความเรื่อง “Fact Checking” ที่กำลังมาแรงในทุกวงการไปแล้ว สัปดาห์นี้ผู้เขียนขอขยายความต่อเรื่อง “Fake News” ที่เกี่ยวข้องกันอย่างมากกับ Fact Checking และผู้รู้ทั่วโลกให้คำจำกัดความในเชิงรายละเอียดไว้ค่อนข้างหลากหลาย จนมีบางเสียงบ่นว่ายิ่งทำให้สับสนอลหม่าน ไม่รู้อะไรเป็นอะไรหนักขึ้นไปอีก

อะไรคือ Fake News

ในปี ค.ศ. 2017 “fake news” ได้รับเลือกเป็น “คำศัพท์แห่งปี” จากหลายองค์กร รวมถึงพจนานุกรมคอลลินส์ (Collins) พร้อมคำจำกัดความว่า “ข้อมูลเท็จที่มักจะเน้นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของการรายงานข่าว”

ในภาษาอังกฤษ เราอาจพบคำว่า junk news (ข่าวขยะ) หรือ pseudo news (ข่าวปลอม) หรือ hoax news (ข่าวหลอกลวง) แทนคำว่า fake news ซึ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  ทุกคำที่กล่าวมา หมายถึง “yellow journalism” ตามคำจำกัดความของสื่ออเมริกัน ได้แก่ข่าวที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีจริยธรรมสื่อ ไม่ศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอและเน้นการพาดหัวข่าวหวือหวาเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายเท่านั้น

คนแรกที่ใช้คำ “yellow journalism” คือ เออร์วิน วอร์ดแมน (Erwin Wardman) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เพรส (New York Press) เพื่อประชดประชันการแข่งขันทำข่าวหวือหวา (sensational news) เพิ่มยอดขายระหว่างหนังสือพิมพ์อเมริกันระดับยักษ์ใหญ่ 2 ฉบับคือ นิวยอร์ก เวิลด์ (New York World) ของโจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer)  และ นิวยอร์ก เจอร์นัล (New York Journal) ของวิลเลียม แรนดอล์ฟ  เฮิร์สท

cr : pixabay

ต้นทางของคำมาจากการ์ตูนช่อง “Hogan’s Alley” แนวเสียดสียั่วล้อสังคมโดย ริชาร์ด เอฟ เอาท์คอลท์ (Richard F Outcault) ที่เล่าถึงชีวิตในสลัมกลางกรุงนิวยอร์ก ผ่านตัวละครเด็กชื่อ มิคกี้ ดูแกน (Micky Dugan) ผู้เดินเท้าเปล่าตะลอนๆไปทั่วในชุดนอนตัวโคร่งสีเหลืองจนได้ฉายาว่า “The Yellow Kid”  

การ์ตูนช่องเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิวยอร์ก เวิลด์ และเป็น “การ์ตูนช่องเรื่องแรก” ของหนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับวันอาทิตย์ ที่กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน เพิ่มสัดส่วนข่าวหวือหวาให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับข่าวหนัก (serious news)

การ์ตูนช่องเรื่องนี้ดังมากและดันยอดขายของนิวยอร์ก เวิลด์ พุ่งกระฉูด จนคู่แข่งอย่างนิวยอร์ก เจอร์นัล ยอมเสนอราคาใหม่ที่สูงกว่าเพื่อดึงตัวผู้วาดไปอยู่ด้วย ความดังของการ์ตูนและการแข่งขันอย่างดุเดือดของหนังสือพิมพ์ทั้ง  2 ฉบับในยุคเริ่มต้นของการทำข่าวหวือหวา ทำให้วอร์ดแมนเรียกหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับว่าเป็นพวก “yellow” และเรียกการทำงานสื่อที่เน้นอารมณ์หวือหวามากกว่าข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มยอดขายว่า “yellow journalism”

มีผู้วิจารณ์ในภายหลังว่า “yellow journalism” เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการเกิดสงครามระหว่างอเมริกากับสเปนในคิวบาเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งดำเนินไปจนกระทั่งคิวบาได้เอกราชจากสเปนเพื่อมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา ก่อนที่อเมริกาจะเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวเป็นอาณานิคมของสเปนเช่นกัน

พูลิตเซอร์ และ เฮิร์ทซ์ พร้อมใจกันใช้พื้นที่หนังสือพิมพ์เวิลด์และเจอร์นัล นำเสนอ “ข่าวลวง” และ “ข่าวลือ” ซึ่งไม่มีการตรวจสอบโดยเจตนาสร้างความหวาดกลัวและเกลียดชังสเปนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข่าว “สเปนวางแผนจมเรือรบอเมริกา” ก่อนจะร่วมกันเรียกร้องสงครามเต็มรูปแบบโดยไม่เปิดพื้นที่ให้เสียงคัดค้าน อีกทั้งยังเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อว่า อเมริกา “ต้อง”ทำสงครามต่อต้านสเปน และต้องขยายอิทธิพลออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะที่เป็นอาณานิคมเดิมของสเปนเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของอเมริกา

Fake News วันนี้

ปัจจุบัน แทบไม่มีใครรู้จักคำว่า yellow journalism แล้ว แต่เรื่อง fake news ยังคงอยู่ในชีวิตและความสนใจของผู้คน โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าทรัมป์ได้ชัยชนะเพราะ fake news ที่เป็นประโยชน์กับตัวเขา แต่ทรัมป์ก็กล่าวหาสำนักข่าวที่ไม่เชียร์เขาเช่น CNN ว่าเป็นสำนักข่าวปลอมเช่นกัน

EJN (Ethical Journalism Network) หรือ เครือข่ายสื่อจริยธรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ของประเทศอังกฤษในปี 2012 นำโดย เอเดน ไวท์ (Aidan White) ให้คำจำกัดความ fake news ว่า

เป็นข้อมูลที่มีการสร้างขึ้นอย่างจงใจและเผยแพร่ออกไปด้วยความตั้งใจที่จะหลอกลวงผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นไขว้เขวไปในทางที่จะเชื่อคำหลอกลวงหรือสงสัยในความจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ 

” Fake news is information deliberately fabricated and published with the intention to deceive and mislead others into believing falsehoods or doubting verifiable facts. “

ขณะที่ สภายุโรป (Council of Europe) เผยแพร่คำอธิบายเมื่อปี 2017 ว่า ในกรณี fake news นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแยกเนื้อหาจริงออกจากเนื้อหาเท็จ และจากเนื้อหาที่สร้างขึ้นโดยเจตนาทำร้ายผู้อื่นกับเนื้อหาที่สร้างขึ้นโดยไม่เจตนาทำร้ายใคร

สภายุโรปให้คำจำกัดความ fake news ว่า คือ disinformation, mis-information และ mal-information โดยแต่ละคำ มีความหมายดังนี้

  • Dis-information หมายถึงข้อมูลเท็จที่สร้างขึ้นอย่างจงใจ โดยมุ่งหมายทำร้ายบุคคล กลุ่มสังคม องค์กร หรือประเทศชาติ
  • Mis-information หมายถึงข้อมูลเท็จ แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่น
  • Mal-information หมายถึงข้อมูลที่มีพื้นฐานจากเรื่องจริง แต่นำมาใช้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล องค์กร หรือประเทศชาติ
cr : pixabay

ส่วน แคลร์ วอร์เดิล (Claire Wardle) แห่งโครงการ First Draft News ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2015 ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงานรวมถึงกูเกิ้ล, เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เพื่อต่อสู้กับ mis-and-dis-information ทางออนไลน์ แบ่ง fake news ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

  1. Satire หรือ Parody ข้อมูลแนวเสียดสีล้อเลียนที่ไม่ตั้งใจทำร้ายบุคคลใด นอกจากเพื่อสร้างความรู้สึกตลกขบขัน
  2. False Connection พาดหัวข่าว ภาพประกอบ คำบรรยายภาพไปคนละทางกับเนื้อหาข่าว
  3. Misleading Content ข้อมูลที่จงใจทำให้ผู้รับสารไขว้เขว เพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  4. False Context ข้อมูลถูกต้องแต่อธิบายในบริบทที่ผิดพลาด
  5. Imposter Content อ้างแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือแต่ข้อมูลไม่ได้มาจากแหล่งข่าวนั้น
  6. Manipulated Content ดัดแปลงข้อมูลทั้งเนื้อหาและภาพเพื่อหลอกลวงผู้รับสาร
  7. Fabricated Content ข้อมูลเท็จทั้งหมด จงใจสร้างข้อมูลเท็จเพื่อหลอกลวงหรือเพื่อสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

วอร์เดิล ระบุว่า สื่อประเภทอ่อนมาตรฐานจริยธรรมสื่อมักผิดพลาดข้อ 2, 3 และ 4 ขณะที่งานล้อเลียนเสียดสีเน้นข้อ 1 ข้อ 5 และข้อ 7 งานปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกฮึกเหิมเน้นข้อ 5, 6, 7 งานประเภทสร้างอารมณ์คล้อยตามเน้นข้อ 4 งานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งฝักฝ่ายเน้นข้อ 3 และ 4 และงานเพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมืองเน้นข้อ 3, 4, 6 และ 7  ส่วนงานโฆษณาชวนเชื่อทำทุกอย่างยกเว้นข้อ 1 และ 2

อนาคต Fake News

ประวัติศาสตร์ของ fake news ยาวนานจนเราอาจอนุมานว่ามันอยู่กับมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่มีการติดต่อสื่อสาร เพราะข่าวลือทางลบเป็นอาวุธชั้นดีในการทำลาย “ศัตรู” หรือ “คู่แข่งขัน” เสมอ

หากสืบค้นหลักฐาน เราจะสามารถพบร่องรอยของ fake news ตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐโรมันก่อนคริสตกาล ผ่านยุคกลาง ยุคต้นสมัยใหม่ ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 คริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงยุคปัจจุบันคือคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งดูจะเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของ fake news ที่ไม่เพียงมีบทบาทในการกำจัดศัตรู แต่ยังมีบทบาทในการ “ทำมาหากิน” ของบุคคลหลายกลุ่มเพื่อสร้าง “รายได้” จากธุรกิจข่าวปลอม ไม่ว่าจะในแง่ “รับจ้างเผยแพร่ข่าวปลอม” เพื่อกำจัดคู่แข่งขันในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของผู้ว่าจ้าง หรือในแง่ของการล่อลวงเงินจากเหยื่อโดยตรง

อินเทอร์เน็ตช่วยให้ fake news เติบโตเร็วขึ้นและมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น เพียงใครสักคนหลงคลิกเข้าไปอ่านข้อความก็อาจกลายเป็นช่วยกระจายข่าวเท็จไปแล้ว การเติบโตของ fake news วันนี้จึงอยู่ในระดับที่เหมือนไม่อาจมีใครยับยั้งได้ แต่ละคนต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อ fake news ด้วยวิธี fact checking นั่นเอง

หาก “พูดง่ายกว่าทำ” เสมอ และการจัดการกับ fake news ก็ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด

งานศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท หรือ เพนน์สเตท ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า เพื่อช่วยสร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถดักจับ fake news ได้ง่ายขึ้น นักวิชาการจำเป็นต้องรู้ชัดว่าอะไรคือ fake news แต่คำจำกัดความที่มีอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างคลุมเครือ สับสนและถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มที่มีความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่าย

cr : pixabay

ในการศึกษาครั้งนี้ พวกเขาจึงต้องจัดกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาให้แคบลงเป็น 7 ประเภท ได้แก่ ข่าวเท็จ (false news), ข่าวที่มีเนื้อหาโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนสุดขั้ว (polarized content), ข่าวเสียดสี (satire), ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดพลาด (misreporting), ข่าวที่เป็นความเห็น (commentary), ข่าวที่เป็นข้อมูลเพื่อการโน้มน้าวความเชื่อ (persuasive information) และข่าวจากนักข่าวพลเมือง ( citizen journalism) โดยศึกษาเปรียบเทียบกับข่าวจริงที่รายงานโดยนักข่าวอาชีพ

ผลการศึกษาที่ “ไม่มีอะไรใหม่นัก” ยืนยันความเชื่อเดิมว่า ข่าวจริงมีลักษณะเฉพาะของข้อความที่แตกต่างจากข่าวเท็จ เช่น รูปแบบในการนำเสนอข่าว ข่าวเท็จมักไม่ใส่ใจความถูกต้องของหลักภาษาและข้อมูลที่นำเสนอ แต่มักอิงกับอารมณ์ตลอดจนมักพาดหัวข่าวในลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และความแตกต่างนี้ยังรวมถึงแหล่งข่าวที่ใช้อ้างอิงในข่าว  

สงครามต่อต้าน fake news น่าจะเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนาน และไม่แน่ว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างหมดจด เพราะ fake news เกิดจากสมองมนุษย์ซึ่งซับซ้อนกว่าปัญญาประดิษฐ์

ข้อเตือนใจที่ฟังกันมานานแล้วว่า หากไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย fake news ควรทำความรู้จัก fake news และเตือนสมองของเราเองให้ตื่นตัวด้วยการ “คิดก่อนแชร์”  ทุกครั้ง จึงยังไม่ตกยุค


 

 

Category:

Passion in this story