กลยุทธ์ธุรกิจแบรนด์ดัง อายุร้อยพันล้าน ทำไมถึงข้ามผ่านอุปสรรคและจุดเปลี่ยนในช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้
เมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนในแต่ละยุค เจ้าของธุรกิจก็จำเป็นต้องมองหากลยุทธ์ที่ต่างออกไป เพื่อนำพาธุรกิจของตัวเองให้ก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ได้
ในการทำธุรกิจนั้นเมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนของช่วงเวลา แน่นอนว่าเจ้าของธุรกิจจะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รสนิยมและความชื่นชอบของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่อุปสรรคจากคู่แข่งรายใหม่ ที่มีการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์มาเพื่อทดแทนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เดิม เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะต้องมองหากลยุทธ์เพื่อนำพาธุรกิจของตัวเองให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเมื่อต้องเจอกับจุดเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาเหล่านั้นไปให้ได้ ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่เคยทำสำเร็จจนได้ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ระดับประเทศที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างช้านาน วันนี้เราจึงได้นำเอาตัวอย่างการทำธุรกิจของแบรนด์อายุเกินกว่า 100 ปี มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ นำเอาไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองกัน
ตัวอย่างแบรนด์ดังอายุเกิน 100 ปีที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างช้านาน
- ซิงเกอร์ เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกาที่ได้เริ่มเข้ามาบุกเบิกตลาดจักรเย็บผ้าในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2432 โดยในการเข้ามาครั้งแรกนั้น ซิงเกอร์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นผู้นำในด้านการจำหน่ายจักรเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจักรเย็บผ้า ที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์ธุรกิจทางด้านการขายเป็นแบบการเช่าซื้อหรือการผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นรายงวด ซึ่งกลยุทธ์ทางการขายแบบนี้เองที่ทำให้แบรนด์ซิงเกอร์กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดการจำหน่ายจักรเย็บผ้าในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว จนมาถึงปี พ.ศ. 2500 บริษัทซิงเกอร์ก็ได้มีการวางกลยุทธ์ธุรกิจโดยเพิ่มประเภทของสินค้าประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน คือ “ตู้เย็น” เข้ามา และได้มีการเพิ่มประเภทสินค้าประเภทอื่นเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องเล่นสเตอริโอ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเป็นผู้นำ บุกเบิกตลาดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เช่น ตู้แช่แข็ง ตู้แช่เครื่องดื่ม ตู้เติมเงินโทรศัพท์ออนไลน์ ตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ ตลอดจนจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ทางการเกษตรต่าง ๆ เป็นต้น
- โอสถสภา มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านขายยาและสินค้าเบ็ดเตล็ดเต๊กเฮงหยูในย่านสำเพ็ง เมื่อปีพ.ศ.2434 ซึ่งในยุคนั้นนายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ผู้ก่อตั้งบริษัทได้มีการริเริ่ม เป็นผู้นำเอาสูตรยาจีนที่ชื่อว่ายากฤษณะลั่น ที่มีสรรพคุณแก้ปวดออกมาจำหน่าย และได้ทูลเกล้าถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จนร้านยาเต๊กเฮงหยูและยากฤษณะลั่นตรากิเลน กลายเป็นยาซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทย และร้านยาเต๊กเฮงหยูหรือที่ได้เปลี่ยนชื่อร้านเป็นโอสถสถานเต๊กเฮงหยู ตามนามสกุลโอสถานุเคราะห์ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 และได้มีการบุกเบิกตลาดผลิตยาสามัญประจำบ้านอีกหลายชนิดออกมาจำหน่าย ได้แก่ ยาธาตุ ยาแก้ไอ ยาอมวัน-วัน ยาอมโบตันและยาทัมใจ เป็นต้น จนเมื่อ พ.ศ. 2492 ก็ได้มีการขยายธุรกิจ ตั้งโรงงานผลิต และวางกลยุทธ์นำเอาเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้เพื่อรองรับธุรกิจและตลาดที่กำลังเติบโตมาโดยตลอด และได้มีการขยายสายการผลิตเพิ่มเติม นอกจากสินค้าประเภทยาสามัญประจำบ้านและลูกอมแล้ว เจ้าของธุรกิจยังปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่กลยุทธ์ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มอีกหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังได้ขยายสายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับความงามของผู้หญิงอีกด้วย
- อมตะ บีกริม หรือ บีกริม พาวเวอร์ เป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2421) เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้นำทางธุรกิจที่ทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทยตั้งแต่อดีต ตั้งแต่การสร้างคลองรังสิต พัฒนาระบบโทรศัพท์และโทรเลขของประเทศ มาจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะต้องเจอกับจุดเปลี่ยนมากมาย แต่อมตะ บีกริมก็ยังคงเป็นบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจที่ทำหน้าที่จัดหาเครื่องจักรให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างบริษัทรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้นในปี พ.ศ. 2536 บริษัทยังได้ขยายกลยุทธ์มาเป็นผู้บุกเบิกตลาดดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ จนในปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่า 500 ราย ทำให้อมตะ บีกริม หรือ บีกริม พาวเวอร์ขึ้นแท่นเป็นผู้นำทางธุรกิจทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่อยู่คู่เมืองไทยมาอย่างช้านาน
กลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้แบรนด์ดังเหล่านี้ข้ามผ่านอุปสรรคและจุดเปลี่ยนทั้งหลายในช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้
- ปรับตัวตามความต้องการของตลาด อย่างเช่นกรณีของโอสถสภาที่มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านขายยาและการจำหน่ายยาจีนซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านในอดีต ที่เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เจ้าของธุรกิจก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการจำหน่ายยาสามัญประจำบ้านประเภทยาแก้ไข ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้เจ็บคอต่าง ๆ แต่เพียงอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นการจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตามยุคสมัยมากขึ้น
- มองหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ ไม่จำเป็นที่เจ้าของธุรกิจจะต้องดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ หรือจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะผลิตภัณฑ์เดิม ๆ เสมอไป จากตัวอย่างของทั้งซิงเกอร์และโอสถสภา ที่ล้วนใช้กลยุทธ์ธุรกิจเพิ่มเติมสายการผลิต เพิ่มเติมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย ซิงเกอร์จากที่เคยเป็นผู้นำในการจำหน่ายจักรเย็บผ้าแต่เพียงอย่างเดียวก็เพิ่มเติมผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มครัวเรือนไปถึงเชิงพาณิชย์เข้ามาด้วย โอสถสภาที่นอกจากจะผลิตยาสามัญประจำบ้าน ก็ได้ขยายสายการผลิตมาสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กรวมไปถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
- พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์แบบไม่หยุดนิ่ง จากตัวอย่างของทั้ง 3 แบรนด์อายุกว่า 100 ปีข้างต้น จะเห็นได้ว่าแต่ละแบรนด์นั้น เจ้าของธุรกิจมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ก้าวหน้าและพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบไม่หยุดนิ่ง อมตะ บีกริม จากที่เคยเป็นผู้นำบุกเบิกโครงสร้างพื้นฐานในอดีต ก็มีการพัฒนาความสามารถให้รองรับสำหรับการดำเนินธุรกิจสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีการต่อยอดกลยุทธ์ธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตของชาวไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ถึงแม้เจ้าของธุรกิจจะต้องเจอกับอุปสรรคและจุดเปลี่ยนต่าง ๆ ที่เข้ามาท้าทายเป็นระยะ แต่หากเจ้าของธุรกิจรู้จักปรับตัววางกลยุทธ์ธุรกิจ ปรับเปลี่ยนแนวคิดให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดแบบไม่หยุดนิ่ง และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ การก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ของในแต่ละช่วงเวลาก็ไม่ใช่เรื่องยาก
สตาร์ทอัพรุ่นใหม่รวมถึงเจ้าของธุรกิจ SME ทั้งหลาย สามารถนำเอากลยุทธ์การทำธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่แบรนด์ดังอายุเกิน 100 ปีเหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ให้ก้าวขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จกลายเป็น “คนรุ่นใหม่ ตามล่าพันล้าน” ได้เช่นเดียวกัน และนี่คือแนวคิดของธุรกิจอายุร้อย ที่ธุรกิจอายุน้อยรุ่นใหม่อย่างเราๆ จะเอาอย่างได้
“ปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ทันการเปลี่ยนแปลง พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจอยู่เสมอ และต้องไม่ยึดติดกับกลยุทธ์ธุรกิจแบบเดิม ๆ”
Key Takeaway : 3 กลุยทธ์ที่จะพาธุรกิจสู่ความสำเร็จได้
- ไม่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์ตัวเดิม ที่เคยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในอดีต
- มองหาโอกาสและช่องว่างทางการตลาดอยู่เสมอ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิต รวมถึงมองหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ เพื่อคงความเป็นผู้นำในตลาดอย่างต่อเนื่อง
- คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง