ปีนี้…คนทำงานออฟฟิศจำนวนมากต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานครั้งใหญ่ ผลจากการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
ทว่า…แท้จริงแล้วมนุษย์ออฟฟิศที่กำลังแย่เหล่านี้ อาจมีปัญหาอื่นที่ฝังอยู่ในตัวเองก่อนที่จะเกิดโควิดซะอีก นั่นคือ ศักยภาพและความสามารถเฉพาะตัวบุคคล
เมื่อเป็นเช่นนี้ แบลร์ เชปพาร์ด ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และผู้นำระดับโลก ของไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (Blair Sheppard, Global Leader, Strategy and Leadership, PwC) จึงตั้งคำถามดัง ๆ ว่า
“ชีวิตและการทำงานยากลำบากขนาดนี้ แล้วถ้าโควิด-19 ผ่านพ้นไป ชีวิตและการทำงานจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แล้วเราจะเตรียมพร้อมอย่างไร”
เช่นเดียวกับคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาทำนองนี้ เฉพาะชาวอเมริกันพบว่า 57% ของคนทำงานรู้สึกกลัวตกงาน ขณะชาวอังกฤษที่ขาดฝีมือก็วิตกเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง
เชปพาร์ด เสนอว่าถ้าคนเราจะสามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นยุคโควิดหรือยุคหลังโควิดก็ตาม อาจใช้แนวต่าง ๆ ไปปรับใช้ก็ไม่เลว
อย่างแรก คือ “สร้างแพลตฟอร์มเฉพาะตัว”
ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่มีประสบการณ์มากแล้ว หรือแม้กระทั่งคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่และกำลังหางานทำอยู่ จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในด้านนี้ให้จงได้
แพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับคนในยุคนี้ อาจไม่ใช่แค่การใช้ดิจิทัลเป็น แต่ต้องสามารถพัฒนาหรือประยุกต์เทคโนโลยีให้เหมาะกับตัวเราด้วย เรียกว่าสร้างโมเดลธุรกิจของตัวเองขึ้นมาใช้เองหรือจะเป็นโมเดลสำหรับกลุ่มหรือองค์กรก็ได้
อย่างที่สอง คือ “รู้จักทำงานเสมือนจริง”
การทำงานแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นมานับร้อยปีแล้ว แต่ละวันคนจะออกจากบ้านไปทำงานอีกที่หนึ่ง อาจจะเป็น ไร่ นา บริษัท หรือ โรงงาน แต่ปัจจุบันคนทำงานอยู่บ้านมากขึ้น
ชาวเอเชียส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการทำงานที่บ้านมาพอสมควร ขณะที่ชาวตะวันตกกำลังเข้าทางโค้งวิ่งไปสู่วิถีใหม่นี้
เชปพาร์ดบอกว่า คนที่อยู่บ้านต้องรู้จักวิธีจัดการชีวิตให้ดี สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ต้องฝึกการมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ รวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงคนอื่น หรืออาจจะวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน
อย่างที่สาม คือ “พัฒนาทักษะใหม่ ๆ”
เมื่อคนทำงานอยู่บ้านมากขึ้น หมายความว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานวันละหลายชั่วโมง หลายคนใช้เวลาที่ได้เพิ่มขึ้นมาแบบฟรี ๆ นี้ มาคิดสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ
แม้แต่คนที่ตกงาน จากที่เคยยุ่งเหยิงแต่ตอนนี้มีเวลามากมาย ถ้าคิดบวกแบบนี้ก็จะมีแรงบันดาลใจค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ได้เพิ่มขึ้น อาจต่อยอดงานเดิมที่เคยทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหม่
อย่างที่สี่ คือ “มองไปอนาคต”
ความจริงทุกคนก็คงมองไปอนาคตกันอยู่แล้ว เพียงแต่จะใช้ความสามารถมากน้อยเพียงใด หรือเริ่มต้นช้าเร็วเพียงใด
แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาในเวลานี้คือ การจับกระแสอนาคตให้ถูกต้อง ย่อมดีกว่าที่จะคิดสร้างกระแสขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างเช่น
ถ้ามีข้อมูลประชาชนผู้สูงอายุในแต่ละทวีปอย่างแม่นยำ ก็จะรู้ว่าควรจะทำธุรกิจหรือโครงการอะไรที่จะตอบสนองความต้องการของคนเหล่านั้นได้
หรือหากจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีกลุ่มเด็กและคนหนุ่มสาวมากกว่า ก็จะรู้ว่าจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือแนวโน้มในอนาคต
“ทั้งหมดนี้ คือ โจทย์ชีวิตของคนทำงานยุคโควิด”
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ A guide to thriving in the post-COVID-19 workplace โฉมใหม่ที่ทำงานหลังโควิด 5 สิ่งที่ต้องทำ เมื่อคุณตกงาน! ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ