ช่วงหลังๆมานี้เริ่มได้ยินคำว่า แฮกกาธอน หรือ Hackathon มากขึ้นเรื่อยๆ คำๆนี้เป็นที่รู้จักในอีกหลายชื่อ เช่น แฮกเดย์ แฮกเฟสต์ หรือ โค้ดเฟสต์ แต่เมื่อตีความหมายเฉพาะทางแล้ว จะหมายถึงการจัดงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งรวมไปถึงนักออกแบบกราฟิก และผู้จัดการโครงการ ที่มารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันอย่างคร่ำเคร่งในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆออกมาในระยะเวลาจำกัด ปกติการจัดงานแฮกกาธอน มักจะใช้เวลาตั้งแต่หนึ่งวันไปจนถึงเจ็ดวัน
คำว่า แฮกกาธอน มาจากคำสองคำคือคำว่า Hack กับคำว่า Marathon คำว่า Hack ในที่นี้ก็มาจาก Hacker นั่นเอง แต่ไม่ใช้คนร้ายอย่างที่เข้าใจ ตรงข้ามเขาคือคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของคอมพิวเตอร์เชิงลึกจนสามารถเข้าใจว่าระบบมีช่องโหว่ตรงไหน หรือมีอะไรที่ควรแก้ไข แล้วพวกเขาเองก็ต้องการแก้ไขมัน ด้วยความรู้ความสามารถที่พวกเขามี
บางครั้งการจัดงานแฮกกาธอน ก็ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม ธุรกิจ พัฒนาองค์กร หรือประเด็นอื่นๆแล้วแต่หน่วยงานต้องการ หากไม่เน้นเรื่องเทคโนโลยี การจัดงานแฮกกาธอนมักจะมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการทำงานภายในองค์กร รวมถึงเฟ้นหาพนักงานที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และเปิดให้ได้แสดงฝีมือนั้นอย่างเต็มที่
ตัวอย่างล่าสุด ธนาคารกรุงไทยมีการจัดงานแฮกกาธอน เมื่อเร็วๆนี้เพื่อให้พนักงานเสนอนวัตกรรมการทำงานเพื่อยกระดับการทำงานภายในองค์กร ขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและธนาคารทหารไทยก็จัดงานเช่นกัน เพื่อเฟ้นหาแนวคิดใหม่ๆมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับปรากฏการณ์แฮกกาธอนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสธุรกิจเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัพ เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้มีการมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ต้องหากลยุทธ์ทางการค้าใหม่ๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ผลักดันธุรกิจให้เติบโตและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
ทั้งนี้ ธุรกิจที่มองกันว่ามีความต้องการแนวคิดใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคดิจิทัลเวลานี้ เช่น เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech) เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม (Agri Tech) ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) เทคโนโลยีด้านการอยู่อาศัย (Living Tech) และเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) เป็นต้น
ว่ากันว่า หากองค์กรไหนสามารถระดมมันสมองจากงานแฮกกาธอนได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วงชิงโอกาสได้มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจหรือวงการเทคโนโลยี สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าตัวจริงนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีอำนาจเลือกอย่างแท้จริง หากไม่สามารถมัดใจไว้ได้ลูกค้าก็อาจจะเดินจากไปก็ได้
Source : scimath techsauce
Category: