พาหนะที่เรียบง่าย อาศัยแค่แรงน่อง ปั่นพาเราเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ส่งเสริมการออกกำลังกาย ลดภาระระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือประโยชน์บางประการที่จักรยานมอบให้เราในวันที่โควิด 19 – โรคติดเชื้อใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และยังไม่มีวัคซีนรักษา มาเยือน

สำหรับหลาย ๆ คน และหลาย ๆ ประเทศ จักรยานอาจได้ไปต่อ  ขยับสถานะจาก “ตัวเลือก” ในการเดินทาง กลายมาเป็น “ตัวจริง” ในชีวิตประจำวันในโลกอนาคต

บูมอย่างมากในอังกฤษ

ผลสำรวจโดย SYSTRA บริษัทที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญงานระบบสาธารณูปโภคการขนส่ง ระบุว่า 61 เปอร์เซนต์ของคนอังกฤษกังวลกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ และเลือก “จักรยาน” เป็นโหมดการเดินทางแทน และบรรดาผู้ประกอบการร้านจำหน่ายจักรยานต่างสัมผัสได้ถึงตัวเลขความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

พนักงานขายจักรยานและชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น Halfords ให้สัมภาษณ์บีบีซี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมว่า ช่วงนี้ ยอดขายจักรยานขยับเพิ่มขึ้นถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ซี่งถือว่าสูงมาก

เช่นเดียวกับร้าน Broadribb Cycles ในเมือง Bicester ที่ปกติจะขายจักรยานได้ราว 20 – 30 คัน ต่อสัปดาห์ ก็ขยับขึ้นเป็น 50 คันต่อวัน บวกกับความต้องการงานบริการซ่อมบำรุงที่เพิ่มตามไปด้วย เพราะหลายคน เริ่มเข็นจักรยานเก่าเก็บในโรงรถออกมาซ่อม เปลี่ยนยาง และเบรก ก่อนปั่นออกไปทำงานและไปเรียน ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ การให้บริการซ่อมจักรยานจะดำเนินการแล้วเสร็จหนึ่งวันหลังรับจักรยานเข้ามาในร้าน แต่ขณะนี้ ลูกค้าต้อง จองคิวขอใช้บริการล่วงหน้าถึง 2 สัปดาห์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ gov.uk ระบุกระทรวงคมนาคมมีแผนทุ่มงบ 2 พันล้านปอนด์สนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศพัฒนาเลนจักรยาน อำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยการเดินทางด้วยจักรยานของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการออก Vouchers พื่อกระตุ้นให้ผู้คนนำจักรยานที่มีอยู่ไปซ่อมและนำกลับมาใช้ ผนวกกับอีกหลายมาตรการในโครงการ ปั่นไปทำงาน (Cycle to Work Scheme) ซึ่งมีแนวคิดจะให้ส่วนลดแก่พนักงานที่ซื้อจักรยานคันใหม่เพื่อใช้ในการเดินทางไปทำงานแทนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเดินและการขี่จักรยาน รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานและการเดินเท้าให้มากขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2025 หรืออีกห้าปีข้างหน้า โดยจะมีการลงทุนสร้างสาธารณูปโภครองรับทั่วประเทศ และส่งเสริมให้แพทย์เขียนใบสั่งให้คนไข้ออกกำลังกาย และขี่จักรยาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาโรคนอกจากการจ่ายยา เป็นต้น


เรื่องที่คุณอาจสนใจ


ใคร ๆ ก็ปั่นจักรยาน

ที่กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ มีการประกาศเพิ่มพื้นที่สาธารณะขนาด 5 หมื่นตารางเมตรสำหรับนักปั่นและคนเดินเท้า โดยไฮไลท์อยู่ที่เส้นทางเดินเท้าระยะทาง 4 ไมล์ ที่จะผสานเป็นส่วนหนื่งของพื้นที่ประวัติศาสตร์ Acropolis ขอบทางเท้าจะกว้างขึ้น ถนนทางเดินที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า และพื้นที่ดังกล่าวนี้ ไม่อนุญาตให้ยานพาหนะขนาดใหญ่เข้ามาสัญจร

ที่กรุงบูดาเปสก์ ประเทศฮังการี เมื่อหลายเดือนก่อน ก็มีการเพิ่มเลนจักรยานชั่วคราวระยะทาง 12 ไมล์ บนถนนที่คับคั่งหลายสายของเมือง เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนถึงความยากลำบากในการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่คับคั่งในท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19

ที่ปารีส มีการทำเลนจักรยานชั่วคราวระยะทาง 20 ไมล์ นอกจากนี้ ถนนสายหลักอย่าง Rue de Rivoli และ Rue Saint Antoine ที่เชื่อมการเดินทางแนวตะวันตกและตะวันออกของเมือง ก็ยัง ปิด ห้ามรถยนต์เข้าใช้ พร้อมกับที่จะมีการเสนอเพิ่มเลนจักรยานระยะทางอีก 30 ไมล์ต่อไป

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานของเมืองปารีส ชาวเมืองยังจะได้รับเงิน 50 ยูโรสำหรับนำจักรยานเก่าไปซ่อม โดยมีข้อมูลการวิจัย พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวเมืองปารีสเดินทางด้วยรถยนต์เฉลี่ยเป็นระยะทาง 2.5 ไมล์ ต่อเที่ยว ซึ่งเป็นระยะทางที่เหมาะสมกับการปั่นจักรยาน และยังพบว่า ช่วงล็อกดาวน์ คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้น จากการไม่มีการปล่อยควันพิษจากรถยนต์สู่ท้องถนน

ประเด็นจักรยานยังเป็นประเด็นหาเสียงทางการเมืองของผู้ว่าเมืองปารีส Anne Hidalgo ตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกตั้งในปี 2014 โดยเธอโน้มน้าวมาตลอดให้ผู้คน ละทิ้งรถยนต์ หันมาขี่จักรยานแทน แม้ว่ากลุ่มที่ชื่นขอบการขับเคลื่อนด้วยยานยนต์สี่ล้อ จะคาดหวังว่า รถยนต์จะกลับมาครอบครองพื้นที่ถนนหลังเหตุการณ์โควิด 19 จางหายไป แต่ผู้ว่าการเมืองก็เชื่อมั่นว่า มันจะไม่กลับไปสู่สภาพก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดนี้แน่นอนที่ทั้งเมืองเต็มไปด้วยภาพการจราจรที่แออัดและมลพิษจากยานยนต์ที่คละคลุ้งไปทั่ว

ที่กรุงโรม อิตาลี นอกจากจะมีการอนุมัติการก่อสร้างเส้นทางชั่วคราวและถาวรสำหรับจักรยาน ยังมีนโยบายให้พลเมืองเคลมเงินมูลค่า 500 ยูโร เมื่อซื้อจักรยานคันใหม่มาใช้ โดยยอดเงินที่อนุมัตินี้ ครอบคลุมการซื้อ สกูตเตอร์ จักรยานไฟฟ้าและเซกเวย์ด้วย

ปรากฏการณ์ส่งเสริมการขี่จักรยานลักษณะเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นอีกหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็น ดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์  หรือโบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบีย ที่มีปัจจัยเสริมให้จักรยานบูมหนักขึ้นไปอีกเมื่อนักปั่น Egan Bernal สามารถคว้ารางวัล Tour de France มาครองได้ รวมถึง บรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และหลายต่อหลายเมืองในสหรัฐ ก็มีการรายงานการใช้งานจักรยานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น ที่แคลิฟอร์เนีย มีโครงการ Slow Streets ส่วนที่นิวยอร์ก มีการปิดถนนหลาย ๆ สายให้กลายเป็นเลนจักรยาน ที่มากไปกว่านั้น หลายเมืองบอกว่าจะทำให้เลนจักรยานกลายเป็นสิ่งถาวรในที่สุด

ในเมืองไทยเรา ก็มีมุมมองไม่ต่างจากนักปั่นในประเทศต่าง ๆ นั่นคือ การขี่จักรยานเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงจากความแออัดของระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าได้ รวมถึงยังทำให้แต่ละคนสามารถปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพิ่มความปลอดภัยให้ตนเองและคนรอบข้างได้ แต่น่าเสียดายที่เส้นทางจักรยานที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุม ไม่เชื่อมต่อเท่าที่ควร ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานยังไม่ สะดวก เหมือนในต่างประเทศ แต่ก็เชื่อว่า หากมีการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มเลนจักรยานให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ จะทำให้จักรยานกลายเป็นตัวเลือกการเดินทางที่มีประสิทธิภาพได้

จักรยานจึงกลายเป็นเทรนด์ที่มาพร้อมกับโควิด 19 และมีแนวโน้มที่จะแปรจากมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยให้การทำ Social Distancing สะดวกขึ้น กลายเป็นวิถีปฏิบัติที่เป็น “ความปกติใหม่” ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการมีสุข ภาพที่ดี และพยายามทำให้ตัวเองและคนรอบข้างห่างไกลจากโรคภัยมากที่สุด

 


Sources

£2 billion package to create new era for cycling and walking

wwwgov.uk

“Cleaner and greener”: Covid-19 prompts world’s cities to free public space of cars

theguardian.com

สู้รู้ภัย ไทยสู้โควิด – 19 สำรวจเส้นทางจักรยานใน กทม Thai PBS 10 พ.ค. 63

 

Passion in this story