ช่วงนี้บ้านเรามี “ข่าวใหญ่” มาบ่อยเหลือเกิน เพราะหลังจากประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงมานานอย่างเรื่อง 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตรเพิ่งได้ข้อสรุปไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม มีมติเป็นเอกฉัณฑ์ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัว
ต่อมาไม่นาน ก็มีข่าวออกมาว่า สหรัฐเตรียมจะระงับ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับไทย ซึ่งข่าวนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์จากฝั่งไทยไปยังสหรัฐอเมริกาไม่น้อย เพราะหลายคนมองว่าเป็นการตอบโต้ที่ประเทศไทยประกาศแบนสารเคมี และทำให้สหรัฐฯ เสียรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย โดยนักร้องชื่อดังอย่าง “แอ๊ด คาราบาว” ถึงกับออกมาแต่งเพลง “ฝนเหลือง” ประชดสหรัฐ (เข้าไปฝึกร้องกันได้ที่ https://www.facebook.com/BuffalosfollowThamma/videos/2676304549322529/ )
ด้านกระทรวงพาณิชย์รีบออกมาชี้แจงว่า เรื่องแบน 3 สารพิษ กับเรื่องแบน GSP นี่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ที่สหรัฐฯ แบนเราก็เพราะด้วยเหตุว่าที่ว่าประเทศไทยไม่ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมแรงงานตามสิทธิแรงงานสากลต่างหาก โปรดอย่าเอามาโยงกันมั่ว
แต่ความจริงจะเป็นเช่นไรนั้น อย่าเพิ่งไปสนใจ เพราะตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า เจ้าสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP นี่มันคืออะไร และจะส่งผลกระทบอะไรต่อไทยบ้าง
GSP หรือ Generalized System of Preferences มันก็คือ สิทธิพิเศษ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะลดภาษีนำเข้าสินค้าให้กับประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา เพื่อให้สินค้าจากกลุ่มประเทศดังกล่าว สามารถแข่งขันกับสินค้าที่มาจากประเทศพัฒนาแล้วได้
สำหรับเงื่อนไขของทางสหรัฐฯ ก็คือ ประเทศที่ต้องการรับสิทธิ์ต้องมีระดับจีดีพีต่อหัวไม่เกิน 12,735 ดอลลาห์สหรัฐ รวมไปถึงเงื่อนไขยิบย่อยอื่นๆ เช่น ประเทศจะต้องมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีระบบคุ้มครองแรงงานที่ได้มาตรฐาน ต้องให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีอยู่ทั้งสิ้น 573 รายการ โดยเป็นทั้งสินค้าอุปโภค และบริโภค ซึ่งที่โดนหนักที่สุดก็เห็นจะเป็นกลุ่มอาหารทะเลซึ่งโดนยกเลิกสิทธิ์ทั้งหมด แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะการโดนระงับสิทธิไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สามารถส่งออกสินค้าพวกนั้นไปสหรัฐฯ หรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP นะ พวกเราเพียงแค่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) ที่ประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท เท่านั้น….เอง
Category: