การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวต่างก็ขาดรายได้ ซึ่งรวมถึงชุมชบนเกาะเต่า ชุมชนเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง เพียง 2,000 คนกลับมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละไม่น้อยกว่า 5 แสนคน ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 5 พันล้านบาท แต่การแพร่ระบาดของโควิด กระทบต่อรายได้ของเกาะแห่งนี้จนแทบจะกลายเป็นศูนย์ คำถามคือ ชาวบ้านชุมชนกว่า 2 พันคนบนเกาะเต่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร…

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ UNDP ได้คิดโครงการระดมทุนผ่าน Crowdfunding เพื่อช่วยเหลือเกาะเต่า โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นพันธมิตรหลักในการออกแบบนวัตกรรมทางการเงินเพื่อรองรับบริจาคผ่านระบบ e-Donation ทำให้เกิดการระดมทุนจากทั่วสารทิศมาช่วยเหลือชุมชนเกาะเต่า และได้รับเงินบริจาคเกินกว่าเกินเป้าหมาย เงินบริจาคส่วนหนึ่งได้ใช้ว่าจ้างคนขับเรือเล็กที่เรียกว่า Taxi Boat เก็บขยะในทะเลและชาดหาด และยังเหลือพอทำกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือ การทำ “ซั้งปลา”

ลุงช่อ เจริญสุข เกาะเต่า

ซั้งปลาเกิดจากแนวคิดของกลุ่มประมงพื้นบ้านบนเกาะเต่า ที่นำโดย นายเจริญสุข สุขผล หรือ ลุงช่อ ประธานกลุ่มฯ ที่มีแนวคิดในการรวมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อฟื้นฟูอาชีพประมงให้สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวในยามที่ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมา

 

ลุงช่อเล่าให้ฟังว่า ประมงพื้นบ้านบนเกาะเต่า เป็นอาชีพที่ลำบากไม่น้อย ในแต่ละวันต้องออกวิ่งเรือเป็นระยะทางไกลๆ เพื่อไปหาปลาขาย ยิ่งวิ่งไกลต้นทุนน้ำมันก็ยิ่งสูงไม่คุ้มค่า ส่วนหนึ่งของประมงพื้นบ้านจึงผันตัวไปเป็นเรือท่องเที่ยว ที่ดูจะมั่นคงและรายได้ดีกว่า… แต่นั่นคือ สถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาด

 

เมื่อโควิดทำให้รายได้เป็นศูนย์ คนในชุมชนต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า ทำอย่างไรจึงจะมีรายได้พอเลี้ยงดูครอบครัว การทำประมงชายฝั่งและซั้งปลาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ…ซั้งปลาของชุมชนเกาะเต่า สร้างขึ้นจากไม่ไผ่ และทางมะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นเหมือนชุมชนอื่นๆ แล้วยึดด้วยเชือกกับแท่งปูนถ่วงน้ำหนัก เพื่อให้ซั้งตั้งตรงในแนวดิ่ง โดยมีก้านทางมะพร้าวชูขึ้นเหนือระดับน้ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวประมงรู้ตำแหน่งของซั้ง

โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านเกาะเต่า จะปลอยซั้งปลาลงทะเลเป็นกลุ่ม ในบริเวณรอบเกาะห่างจากชายฝั่งไม่ไกล โดยซั้งปลาแต่ละซั้ง จะเริ่มมีปลามาชุมนุมหลังจากปล่อยไม่กี่วันเป็นที่ชุมนุมของปลาขนาดเล็ก และชักนำปลาขนาดใหญ่เข้ามาหาอาหารในบริเวณนั้น

 

จากสถิติข้อมูลพบว่า มีปลาขนาดใหญ่ ทั้งปลาอินทรีย์ และปลาทูน่ามาหกินบริเวณซั้งอยู่เป็นประจำ และชาวบ้านก็อาศัยการตกปลาจากซั้งเพื่อหาเลี้ยงชีพได้ โดยปลาที่ตกได้หลายตัวมีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 15-20 กิโลกรัม โดยปลาที่ตกได้จะถูกจำหน่ายให้กับร้านอาหาร และแหล่งรับซื้อในราคาประมาณกิโลกรัมละ 200-300 บาท 

 

ลุงช่อ เล่าให้ฟังว่า หาขยันหาปลา ในแต่ละวันชาวประมงจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 500 บาท จากการตกปลาบริเวณซั้ง โดยไม่ต้องออกเรือไปไกล จึงลดรายจ่ายค่าน้ำมันลงได้อีก ซั้งปลาจึงเป็นแหล่งรายได้อีกแห่งหนึ่งที่พอหาเลี้ยงชีพของกลุ่มประมงพื้นบ้านได้ โดยซั้งปลาแต่ละซั้งจะมีอายุ 3-6 เดือน จากนั้นก็จะปล่อยซั้งใหม่แทนที่ซั้งเดิม ส่วนซั้งเดิมก็จะทิ้งไว้เป็นแหล่งอาศัยของแพลงตอนและงอกงามเป็นปะการังเทียมต่อไป

 

นอกเหนือจากซั้งปลาจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านแล้ว ซั้งปลายังช่วยลดผลกระทบจากความขัดแย้งในชุมชน ลุงช่อ เล่าว่า แต่ก่อนกลุ่มประมงพื้นบ้าน จะกระทบกระทั่งกับกลุ่มนักดำน้ำอยู่เนืองๆ จากการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันในแหล่งที่ปลาชุกชุม แต่หลังจากที่ทำซั้งปลา การกระทบกระทั่งกับกลุ่มนักดำน้ำลดลงมาก กลุ่มประมงพื้นบ้านมีที่ประกอบอาชีพที่ชัดเจน และในอนาคตบริเวณซั้งปลาอาจจะจัดสรรให้เป็นจุดดำน้ำได้ด้วย

 

สิ่งที่ลุงช่อ ถ่ายทอดด้วยภาษาง่ายๆ คือ การสร้างระบบนิเวศน์ที่นำไปสู่ความยั่งยืน จากการสร้างระบบนิเวศน์ในทะเลผ่านการทำซั้งปลา สู่การสร้างระบบนิเวศน์ในชุมชนเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนสุดท้ายที่เข้ามาเติมเต็มระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ ร้านค้าภัตตาคารร้านอาหารบนเกาะที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มประมงพื้นบ้านไปทำอาหารจำหน่าย และผู้บริโภคที่สั่งซื้อปลาและผลิตภัณฑ์แปรรูปไปรับประทาน กลุ่มผู้บริโภคนี้ทำให้ชุมชนสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน  

 

ซั้งปลาจึงเป็นอีกทางออกหนึ่งของชุมชนประมงพื้นบ้าน และชุมชนเกาะเต่าก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่นำซั้งปลามาแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้านอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง UNDP ธนาคารกรุงไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ที่สนับสนุนและผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น

โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า

Passion in this story