Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกเกิดความแปรปรวนจนเห็นได้ชัดขึ้นทุกวัน
ฤดูใบไม้ผลิที่มาก่อนกาล เพราะภาวะโลกร้อน
ทีมวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ฐานข้อมูลที่บันทึกย้อนหลังไปถึงกลางศตวรรษที่ 18 พบว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พืชในสหราชบานเร็วขึ้นหนึ่งเดือนโดยเฉลี่ย
นักวิจัยได้ใช้บันทึกมากกว่า 400,000 รายการจากปฏิทินธรรมชาติเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพันธุ์ไม้ดอก 406 สายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 1753 ถึง 2019 และใช้การสังเกตวันที่ออกดอกครั้งแรกของต้นไม้ ไม้พุ่ม สมุนไพร เปรียบเทียบกับช่วงระหว่างปี ค.ศ.1987 ถึง ค.ศ. 2019 พบว่าพืชมีการออกดอกครั้งแรกโดยเฉลี่ยเร็วขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเร่งตัวของภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
เชื่อว่าฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย แต่การที่ฤดูใบไม้ผลิมาเร็วกว่ากำหนดนี้ อาจส่งผลต่อระบบนิเวศและการเกษตรของสหราชอาณาจักร และอาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
รวมถึงการที่พืชบานเร็วเกินไป น้ำค้างแข็งช่วงปลายฤดูหนาวอาจจะทำให้พวกมันตายได้ ซึ่งแม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวสวนส่วนใหญ่จะเคยประสบมาก่อน แต่ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็คือความไม่ตรงกันทางนิเวศวิทยา พืช แมลง นก และสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่เคยมีความสัมพันธ์กัน อาจเกิดความสับสน จนทำให้สายพันธุ์ล่มสลายได้หากพวกมันไม่สามารถปรับตัวได้เร็วพอ
ศาสตราจารย์จากภาควิชาภูมิศาสตร์ของเคมบริดจ์ กล่าวว่า หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราปัจจุบัน ที่สุดแล้วฤดูใบไม้ผลิในสหราชอาณาจักรอาจเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ที่ป่าต่าง ๆ สวน และฟาร์มของเราพึ่งพาอาจประสบปัญหาร้ายแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะโลกร้อนอาจทำให้พืชบางชนิดสูญพันธุ์ก่อนการค้นพบ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อทุกสิ่งบนโลกใบนี้ ฉะนั้น จึงยังเห็นข่าว หรือรายงานเกี่ยวกับผลกระทบไม่ว่าจะต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมกันอยู่แทบทุกวัน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ งานศึกษาเพื่อทำการเก็บข้อมูลต้นไม้ทั่วโลกได้ออกมาเปิดเผยว่า บนโลกนี้น่าจะมีต้นไม้อยู่ราว ๆ 73,300 สายพันธุ์ หรือมากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ถึง 14%
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีต้นไม้กว่า 9,000 สายพันธุ์ ที่มนุษย์ยังไม่รู้จักและกำลังรอคอยการค้นพบอยู่ โดยนักวิจัยคาดว่า ต้นไม้กว่า 1 ใน 3 เป็นต้นไม้หายาก และอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะภัยจากภาวะโลกรวนและลักษณะการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป
โดยมีการคาดการณ์ว่า ต้นไม้ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกว่า 40% นั้น น่าจะอยู่ในอเมริกาใต้ ถึงแม้ว่าต้นไม้บางชนิดอาจเป็นที่รู้จักของกลุ่มชนพื้นเมือง แต่บางสายพันธุ์อยู่ในจุดที่ไม่เคยมีใครเข้าไปถึง โดยจุดที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายที่สุดก็คือ ลุ่มน้ำแอมะซอน ซึ่งอาจมีต้นไม้อยู่มากถึง 200 สายพันธุ์ต่อพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้น
ศาสตราจารย์ Jingjing Liang จาก Purdue University ในสหรัฐฯ กล่าวว่า “การนับจำนวนพันธุ์ต้นไม้ทั่วโลกนั้น เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อกระจายอยู่รอบโลก ซึ่งทีมของเราได้ร่วมกันแบ่งปันข้อมูลจาก ‘ตัวต่อ’ ของพวกเขา เพื่อร่วมแก้ไขจิ๊กซอว์แผ่นยักษ์นี้ด้วยกัน”
แม้ในตอนแรก ผู้คนมักจะหัวเราะใส่เขา เมื่อเขาพูดถึงไอเดียในการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลต้นไม้ทั่วทั้งโลก
แต่การที่เรายังขาดฐานข้อมูลที่จะช่วยแสดงให้เห็นว่า จำนวนพันธุ์ไม้นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทำให้นักวิจัยกังวลว่า ต้นไม้หลายชนิดอาจสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะได้บันทึกอะไรเกี่ยวกับมัน ดังนั้น Liang จึงหวังว่า งานศึกษาชิ้นนี้จะทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลมาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่นั่นเอง
Category: