โลกหมุนไปทุกวัน เมืองต่าง ๆ ก็พัฒนาไปด้วย หลาย ๆ เมืองทั่วโลกกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญมากมาย 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคำถามตามว่าเมืองแบบไหนที่จะมีธรรมชาติคอยโอบอุ้มให้เราได้อาศัยอย่างร่มรื่นและปลอดภัย แม้ว่ามหานครใหญ่ ๆ อย่าง ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว หรือแม้แต่กรุงเทพ จะเป็นเมืองที่เติบโตด้วยวัตกรรมล้ำสมัย แต่ในทางกลับกัน เมืองใหญ่เหล่านี้ก็ก่อมลพิษออกมามากมาย และอาจจะเลวร้ายที่สุดของโลกก็ว่าได้  

 

ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้ หลาย ๆ เมืองก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจัง ในการรับมือวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change เพื่อรับประกันอนาคตที่ดีให้กับพลเมืองของตัวเอง 

 

ความก้าวหน้ากับความยั่งยืน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราสามารถสร้างเมืองสีเขียวแบบยั่งยืนได้จริงหรือ? 

 

วันนี้ passion gen จะพาไปสำรวจเมืองต้นแบบแห่งความยั่งยืนในอนาคตกัน 

 

 

เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สิงคโปร์ เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ขยะของสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้ Semakau Landfill ซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบขยะแห่งเดียวจะเต็มภายในปี 2035 

 

แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อจัดการสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทำให้สิงคโปร์ได้รับรางวัลเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในเอเชียในปี 2018 ที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น Gardens by the Bay, Jewel Changi Airport และ Marina One ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ 

 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังตั้งเป้าหมายว่าจะเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของเมืองกว่า 80% ให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030 ลดปริมาณขยะโดยรณรงค์ให้ผู้ประกอบและผู้บริโภคช่วย ๆ กัน ร้านค้าต่าง ๆ เช่น Ugly Food และ UnPackt กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า โดยการให้ลูกค้านำภาชนะมาเอง ส่วนร้านเสื้อผ้าอย่าง The Fashion Pulpit ก็นำระบบแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามาใช้ เพื่อให้สมาชิกของร้านประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้า และยังช่วยลดการผลิตเสื้อผ้าใหม่ออกสู่ตลาด 

 

 

ข้ามไปฝั่งยุโรป ไปดูเมือง โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โคเปนเฮเกนตั้งเป้าจะเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางในเรื่องการสร้างสมดุลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนแห่งแรกของโลกภายในปี 2025

 

ดังนั้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมืองทั้งเมืองจะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด โดยใช้วิธีฝังกลบขยะปริมาณน้อยกว่า 2% ให้สลายไปกับดิน ส่วน 98% ที่เหลือนำไปรีไซเคิล หรือเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ CopenHill ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของเมือง ตั้งขึ้นเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานโดยเฉพาะ  

 

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังปรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ด้วย ส่วนการเดินทางรอบโคเปนเฮเกน ปัจจุบันมีเรือพลังงานแสงอาทิตย์ให้บริการ มีรถประจำทางไฟฟ้าวิ่งขนานกับเส้นทางจักรยาน มีทางเดินเท้าที่ร่มรื่นเย็นสบายไม่มีมลพิษ หรือจะว่ายน้ำก็สามารถทำได้ 

 

ส่วนตลาดประจำเมืองอย่าง LØS Market ลูกค้าจะไม่ได้รับภาชนะบรรจุใด ๆ เมื่อพวกเขาซื้อของว่างรับประทาน หรือร้านอาหาร Amass ก็นำส่วนผสมที่เหลือใช้ เช่น ลำต้น เมล็ดพืช และผิวของผักต่าง ๆ มาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในสวนออร์แกนิกของร้านต่อไป  

 

 

ส่วนที่เมือง พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ถือว่าตื่นตัวอย่างมากในเรื่องการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะนี้พื้นที่จำนวนมากในเมืองกลายเป็นแหล่งทำกิจกรรมกลางแจ้งไปแล้ว โดยมีเทือกเขา Hood เป็นฉากหลังที่สวยงาม ทำให้เมืองนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ชอบดื่มด่ำบรรยากาศธรรมชาติ ผลที่ตามมาคือ นักเดินเท้าและนักปั่นจักรยานจำนวนมากมุ่งหน้าสู่เมืองนี้อย่างไม่ขาดสาย 

 

ความน่ารักของเมืองพอร์ตแลนด์อีกอย่างคือ ผู้คนจะนำหนังสือมาตัวเองมาแลกเปลี่ยนกันอ่านโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ร้าน Little Free Library ส่วนร้านอาหารบางแห่งก็หันมาขายอาหารมังสวิรัติ และยังเปิดสอนให้คนในเมืองได้สนุกไปกับการจัดการขยะด้วยวิธี 3R ได้แก่ Reduce การลดขยะ, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่

 

 

กลับมาสำรวจ กรุงเทพ ของไทยเรา ก็ถือว่ามีการตื่นตัวเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมมาพอสมควร ภาคเอกชนหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทธุรกิจใหญ่ ที่ใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เริ่มหันมาดำเนินการทางธุรกิจสีเขียวใส่ใจเรื่องความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเริ่มต้นจนจบกระบวนการ 

 

 

ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจที่ลงทุนเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มุ่งหวังผลประกอบการและความน่าเชื่อถือในระยะยาว และมุ่งสร้างตัวชีวัดเพื่อดึงดูดความสนใจคู่ค้ารวมถึงลูกค้าด้วย 

 

ส่วนในมุมของผู้บริโภคเอง ก็เริ่มมีส่วนขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน ตามที่เห็นเป็นกระแสอยู่ในสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ผู้บริโภคคนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตตัวเอง และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การเป็นคนไทยหัวใจสีเขียวไปแล้ว 

 

เพียงแต่… การเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนแบบองค์รวม จากนโยบายสู่ภาคปฏิบัติแบบจริงจังยังไม่ค่อยเห็นสักเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะอีกไม่นาน เพราะทั่วโลกเขาก้าวไปไกลแล้ว  

Category:

Passion in this story