โรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic หมุนเวียนมาเยือนมวลมนุษยชาติเป็นระลอก ๆ  สร้างความเสียหายแตกต่างกันไป แต่การมาของโควิด-19 ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโรคระบาดใหญ่ในรอบ 100 ปีแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ขณะที่โควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ปัญหาการทำลายสัตว์ป่า แหล่งต้นน้ำ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังคงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปเช่นกัน แม้ว่าหน่วยงานระดับนานาชาติหรือระดับท้องถิ่นจะพยายามหาหนทางลดปัญหานี้อย่างไร แต่ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี

แต่ปัญหาใหญ่ 2 เรื่องนี้ กำลังจับมาผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน…นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญฝั่งตะวันตกเริ่มออกมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และตั้งคำถามดัง ๆ ว่า หากสัตว์ป่าเกี่ยวพันกับโรคระบาดแล้ว เราจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติในลักษณะนี้ขึ้นอีกได้อย่างไร

“หากมนุษย์สามารถปกป้องสัตว์ป่าไว้ได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดขึ้นในอนาคตได้” นี่ไม่ใช่คำกล่าวลอย ๆ แต่มีการศึกษาวิเคราะห์มาแล้ว และกำลังมีการเรียกร้องให้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษอย่าง เดอะ การ์เดียน รายงานว่า โควิด-19 เป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยชี้ว่าหากต้องมี การลงทุนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะใช้งบประมาณหรือต้นทุนแค่ 2% ของงบที่ใช้ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19

คำนวณง่าย ๆ คือ โควิดรอบนี้จะใช้เงินแก้ปัญหาทั้งสั้น 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากใช้มาตรการปกป้องสัตว์ป่าและป่าไม้อย่างที่ว่านี้จะใช้งบแค่ 260 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปกป้องปัญหาได้นานถึง 10 ปี

การป้องกันที่ว่านี้คือปกป้องสัตว์ป่าและป่าไม้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงและลดโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่นั่นเอง

ทั้งนี้ แม้ว่าในแต่ละปีจะเกิดเชื้อไวรัสตัวใหม่ ๆ จากสัตว์ป่าโดยเฉลี่ย 2 ตัวก็ตาม แต่ก็เป็นไปตามระบบธรรมชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ถ้าหากสัตว์ป่าและป่าไม้เหล่านี้ถูกทำลายไป นั่นแหละคือการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่จากสัตว์มาสู่มนุษย์ได้มากว่าซะอีก

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องคือ การสร้างกลไกควบคุมการค้าสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการควบคุมโรค ทั้งในส่วนของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง

แอนดรูว์ ดอบสัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เตือนว่าวิกฤติรอบหน้าจะรวดเร็วยิ่งขึ้นหากธรรมชาติถูกทำลายไป วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่า อีโบลา ซาร์ส รวมทั้งโควิด-19 ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างความรุนแรงของเชื้อโรคและธรรมชาติที่ถูกทำลายไป

เช่นเดียวกับ จวร์ต พิมม์ แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก ก็ยืนยันว่าการลงทุนเพื่อปกป้องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า เป็นวิธีป้องกันโรคระบาดได้ดี

ส่วน อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน หัวหน้าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ก็สนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน เพราะ UN ก็เชื่อว่า หากนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติได้จริง จะถือเป็นการต่อสู้กับโรคระบาดแห่งอนาคตได้ดีที่สุด ที่สำคัญจะช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้มาก

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเหล่านี้ ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น เกิดจากธรรมชาติไม่ได้รับการปกป้องเพียงพอ

ดังนั้น การตัดห่วงโซ่บางส่วนออกไปก็จะช่วยได้ เช่น การหยุดค้าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการออกแคมเปญเพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่ความร่วมมือกันต่อไป


Passion in this story