ข้อมูลจากดาวเทียมตรวจวัดสภาพอากาศ Sentinel-5 Precursor (Sentinel-5P) ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) เผยให้เห็นว่าระดับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide: NO2) ทั่วโลกได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานของภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงักลงในหลายประเทศ ของยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดอย่างรุนแรง
นายพอล มองส์ (Paul Monks) อดีตคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมลภาวะทางอากาศของสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเหมือนการทดลองครั้งใหญ่เพื่อตรวจสอบว่าเราจะสามารถลดปริมาณมลพิษในชั้นบรรยากาศได้มากแค่ไหน หากในอนาคตทั่วโลกร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอนลง ซึ่งการลดลงของมลภาวะในชั้นบรรยากาศนี้ ยังถือเป็นผลดีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะตามปกติแล้วมลภาวะทางอากาศจะเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อให้สูงขึ้น
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เปรียบก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ว่าเป็น “ก๊าซพิษซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคทางเดินอากาศหายใจอักเสบ” หากในอากาศมีไนโตรเจนออกไซด์อยู่หนาแน่นมากกว่า 200 ไมโครกรัม ต่อพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ยังอาจเป็นพาหะนำเชื่อให้กับไวรัสได้ โดยทางองค์การอนามัยโลก กำลังศึกษาอยู่ว่า ฝุ่นละลองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศสามารถเป็นพาหะนำเชื่อโควิค-19 ได้หรือเปล่า และเป็นเหตุที่ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อมีความรุนแรงสูงหรือไม่
ระดับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ของประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19
จีน
ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA เผยว่า ปัจจุบันระดับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ในพื้นที่ตอนกลาง และภาคตะวันออกของจีนลดลงไปมากถึง 10-30% จากช่วงเวลาปกติ โดยพื้นที่มีการลดลงของมลพิษในชั้นบรรยากาศมากที่สุดก็คือ เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ซึ่งรัฐบาลจีนได้บังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 มาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม
ทั้งนี้ เมืองอู่ฮั่นเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 11 ล้านคน ถือเป็นศูนย์กลางของคมนาคมขนส่ง และยังเป็นที่ตั้งของของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งขายไปทั่วโลก
เกาหลีใต้
ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ อยู่ในระดับที่สูงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก และยังได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ลอยมาจากโรงงานในประเทศจีนที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งแม้ว่าเกาหลีใต้จะยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองแต่ปริมานการปล่อยคาร์บอนก็ลดลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด
อิตาลี
พื้นที่ภาคเหนือของอิตาลีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีมลพิษในชั้นบรรยากาศสูงมากของทวีปยุโรป เพราะมลพิษจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม มักถูกกักไว้ในพื้นที่โดยเทือกเขาแอลป์ (Alps) โดยหลังจากที่มีการประกาศล๊อกดาวน์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในเมืองมิลาน (Milan) และในพื้นที่ภาคเหนือก็ได้ลดลงไปประมาณ 40% ซึ่งคาดว่าจะมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจราจรที่ลดลง (แหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ส่วนมากยุโรปมาการจราจรบนท้องถนน)
นายวินเซนต์ เฮนรี่ เพออุช (Vincent-Henri Peuch) ผู้บริหารหน่วยงานบริการตรวจสอบสภาพบรรยากาศโคเปอร์นิคัส (The Copernicus Atmosphere Service) ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts หรือ ECMWF) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในอดีต เราเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้มาก่อน โดยมีต้นเหตุมาจากสภาพอากาศ และเป็นอยู่แค่ไม่กี่วัน การเปลี่ยนแปลงของปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศเป็นระยะเวลานานต่อกัน อย่างที่เป็นอยู่นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
สหราชอาณาจักร
แม้ว่าสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรจะไม่หนักเท่ากับอิตาลี ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเข้มข้นของการออกมาตรการรับมือโดยรัฐบาล แต่ระดับของมลพิษที่สามารถตรวจวัดได้ก็ต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญในพื้นที่มีการสัญจรหนาแน่นอย่างเช่น ย่านแมรี่ลีโบน (Marylebone) ในกรุงลอนดอน (London)
ทั้งนี้ การจราจรบนท้องถนน เป็นแหล่งที่มาของไนโตรเจนออกไซด์ มากกว่า 80% ของสหราชอาณาจักร โดยรถที่ใช้น้ำมันดีเซลทั่วไป 1 คัน จะสามารถลดปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้ 52 มิลลิกรัม ต่อทุกๆ 1 กิโลเมตรที่วิ่งน้อยลง
ขอบคุณข้อมูลจาก theguardian
Category: