หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของกระบวนการการรีไซเคิลขยะก็คือ กระบวนการคัดแยกประเภทขยะที่ยังขาดประสิทธิภาพ  แต่อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหาดังกล่าวนั้น อาจจะอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิดกันไว้ เพราะในยุโรปได้เกิดมีแนวคิดการพิมพ์ลายน้ำดิจิทัล (Digital Watermarking)  ลงบนบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิในการคัดแยกขยะด้วยระบบอัตโนมัติ ในโครงการที่ชื่อ “โฮลี่เกรล”

โครงการโฮลี่เกรล  (HolyGrail) เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทในสหรัฐอเมริกาจำนวน  29 บริษัท ซึ่งในจำนวนนั้น ประกอบไปด้วย  บริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้าชื่อดังต่างๆ  บริษัทที่ทำงานด้านโซลูชัน โพรไวเดอร์ด้านการบริหารจัดการขยะ และการรีไซเคิล รวมไปกลุ่มผู้ผลิตพลาสติก  เป็นต้น  โดยมี บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble Company) หรือ P&G  เป็นผู้นำโครงการ และมี มูลนิธิเอลเลน แมคคาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation)  เป็นผู้สนับสนุนโครงการ

โครงการโฮลี่เกรล  ได้ทดลองพิมพ์ลายน้ำดิจิทัล ที่มนุษย์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลงบนตัวของบรรจุภัณฑ์สินค้า โดยลายน้ำนี้จะทำงานเหมือนกับ “บาร์โค๊ต” และ “QR code”  ซึ่งบรรจุข้อมูลของบรรจุภัณฑ์ เช่น ชื่อ วัสดุที่ใช้ในการผลิต  คุณภาพของวัสดุ และความเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เป็นต้น   เครื่องจักรที่มีตัวอ่านจะสามารถสแกนดูข้อมูลเหล่านั้น  เพื่อทำการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ได้  โดยจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ ก็คือการทดลองว่า การระบุข้อมูล (Tagging) ของบรรจุภัณฑ์ด้วยลายน้ำดิจิทัลจะสามารถเพิ่มความแม่นยำ และประสิทธิของระบบการคัดแยกขยะ และกระบวนการรีไซเคิลได้มากน้อยแค่ไหน

ซึ่งหลังจากที่โครงการโฮลี่เกรลได้ทำการทดลองเป็นระยะเวลา 3 ปี  ผลลัพธ์ของโครงการฯ ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า แนวคิดการใช้เทคโนโลยีลายน้ำดิจิทัลมีประสิทธิภาพที่จะสามารถเข้าไปปฏิวัติกระบวนการคัดแยกขยะได้ และส่งผลทำให้ระบบการรีไซเคิลโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย

นายเจียน เดอ เบลแดร์ (Gian De Belder) หัวหน้าโครงการโฮลี่เกรล  กล่าวว่า อัตราการรีไซเคิลที่ต่ำในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเก็บรวบรวมขยะที่ต่ำ และระบบการคัดแยกขยะที่ขาดประสิทธิภาพ  ซึ่งโครงการโฮลี่เกรลเน้นทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการคัดแยกขยะโดยเฉพาะ

โครงการโฮลี่เกรล ค้นพบว่า เราสามารถเปลี่ยนระบบการบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ธรรมดา ให้กลายเป็นระบบอัจฉริยะด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีลายน้ำดิจิทัล โดยที่ไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อระบบรีไซเคิลในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีนี้ไม่ต้องติดตั้งแบตเตอรี่ หรือสายไฟเพิ่มเติมเพื่อให้ทำงานได้

การพิมพ์ลายน้ำดิจิทัลสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของสินค้า ตั้งแต่การขั้นตอนการบรรจุลงหีบห่อ การควบคุมคุณภาพสินค้า การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การต่อต้านการปลอมแปลงสินค้า การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค (เช่น ผู้บริโภคสามารถทำการสแกนดูข้อมูลของผลิตภัณฑ์ด้วยสมาร์ทโฟน เพื่อตรวจสอบราคาของสินค้า คำแนะนำการใช้งาน รวมไปถึงโปรโมชั่นต่างๆ ที่สินค้านั่นร่วมรายการอยู่ รวมไปถึงอ่านคำแนะนำเรื่องการรีไซเคิลได้)  และเมื่อสินค้าได้กลายเป็นขยะ ลายน้ำดิจิทัลบนบรรจุภัณฑ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในระบบการคัดแยกขยะอัตโนมัติของโรงคัดแยกขยะได้

สำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไป โครงการจะหาบริษัทใหม่ๆ มาเป็นแนวร่วมเพิ่มขึ้น เพื่อแพร่กระจายการใช้เทคโนโลยีพิมพ์ลายน้ำดิจิทัล ในบรรจุภัณฑ์ออกไปให้กว้างขึ้น

โครงการโฮลี่เกรล  ได้รับรางวัล Overall Sustainability Awards 2019 และ รางวัล  Driving the Circular Economy) จากการโครงการประกวด  Sustainability Awards 2019 ซึ่งมอบรางวัลให้กับนวัตกรรมการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน


ข้อมูลอ้างอิงจาก
us.pg
youtube
thesustainabilityawards
packagingeurope

Category:

Passion in this story