วันที่ 22 มีนาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ คนทั่วโลกจะพูดถึงวันอนุรักษ์น้ำโลก หรือ World Water Day เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคต่างๆ

เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในระดับนานาชาติ ที่ประชุมสหประชาชาติปี 2535 ได้กำหนดให้น้ำเป็นวาระสำคัญของโลก และรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและถูกวิธี เช่น การดื่มน้ำทุกครั้งให้หมดแก้วก็ถือว่าเป็นการช่วยโลก หรือการนำน้ำจากการล้างผักไปใช้รดต้นไม้ก็ถือเป็นการประหยัดน้ำไปในตัว

แม้ว่าทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์น้ำ แต่ในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการประเมินว่าในปี 2563 นี้ ประเทศไทยอาจจะเผชิญปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งความจริงปัญหาขาดแคลนน้ำมีการเตือนล่วงหน้ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. ได้คาดการณ์ว่าภัยแล้งปี 2563 อาจมีพื้นที่เสี่ยงภัยถึง 43 จังหวัด เรียกได้ว่ามากกว่าครึ่งของประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนใน 3,785 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ล่าสุด เว็บไซต์ earthobservatory.nasa.gov ได้ชี้ชัดว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าจะหนักสุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำทั่วประเทศต่ำกว่า 50% นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างกว้างขวาง รวมถึงเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 11 ล้านคน

ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายการว่าสินค้าการเกษตรของไทย ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาภัยแล้งคือ ข้าว ยางพารา และน้ำตาล ซ้ำหนักสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว ยิ่งทำให้ปัญหาภัยแล้วกระทบเป็นวงกว้างขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราทุกคนควรเตรียมพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าว สิ่งแรกๆที่สามารถทำได้คือ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เนื่องจากราคาสินค้าทางการเกษตรมีโอกาสเพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่มีน้ำทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย พืชผักที่คาดว่าจะมีราคาแพงขึ้น เช่น ต้นหอม ผักชี นอกจากปลูกผักเพื่อไว้กินเองแล้ว เกษตรกรสามารถขายสินค้าเหล่านี้เป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย

ในส่วนของภาครัฐก็ได้กำหนดแนวทางรับมือภัยแล้งไว้แล้ว 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ได้แก่ บึง กุด หนองน้ำธรรมชาติ อาคารแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่เดิม งานปรับปรุงอาคารและองค์ประกอบ หรือโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเก็บกักน้ำ 2. ขุดแหล่งเก็บน้ำใหม่ ได้แก่ การขุดสระน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่สาธารณะ หรือแก้มลิง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในส่วนรวม 3. ฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือป่าเสื่อมโทรม และ 4. ขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมซึ่งได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว


Sources:
earthobservatory
bloomberg

Passion in this story