การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เผยให้เห็นจุดอ่อนของสังคมมนุษย์ทั่วโลก ในด้านของระบบสุขภาพ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม บุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในหลายพื้นที่ของโลกกำลังขาดแคลน เพราะมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณะสุข และความสามารถในการผลิต ประชากรกลุ่มที่มีฐานะสามารถเข้าถึงการรักษา สามารถหาซื้อสิ่งของจำเป็นต่างๆ และหยุดงานอยู่บ้านได้เป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน แต่ในทางกลับกัน ประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ต้องหาเช้ากินค่ำกลับต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ครั้งนี้อย่างยากลำบาก และขาดความช่วยเหลือที่จำเป็น
สถานการณ์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และไม่สามารถคาดเดาได้ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ (Exponential growth) ทั่วโลก การตัดสินใจ และการลงมือปฏิบัติที่ว่องไว และชาญฉลาด ของผู้มีอำนาจ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมสถานการณ์ โดยจะเห็นได้ว่าประเทศที่สามารถดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างว่องไวและมีความสามารถในการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาได้อย่างรวดเร็ว จะมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
นางเจไมสัน เออวิน (Jamison Ervin) เจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เสนอให้ทุกฝ่ายนำบทเรียนและหลักการในการรับมือโควิด-19 ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
1.สร้างความมั่งคงให้กับสังคมโลก ด้วยการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศทางธรรมชาติ
ธรรมชาติและระบบเศรษฐกิจของโลกมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ตัวอย่างเช่น หากสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้หายไป พืชที่มนุษย์ปลูกเพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ราว 35% ก็จะหายตามไปด้วยเช่นกัน โดยในปัจจุบัน สัตว์และพืช จำนวนมากกว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ พวกเราจึงต้องเร่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบนิเวศทางธรรมชาติตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้นในอนาคต
2.หาวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในแก้ไขปัญหา
พวกเราจำเป็นต้องหาวิธีการประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาทางสังคม ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีก็คือ การร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมการทำ วนเกษตร (Agroforestry) หรือการใช้ที่ดินปลูกไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจและการทำปศุสัตว์อย่างผสมผสานกัน การทำเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) หรือการทำเกษตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชแล้วสามารถฟื้นฟูให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิมได้) และการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน (Mangrove restoration) เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถช่วย บรรเทาปัญหาด้านความหลายหลายทางชีวภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นการช่วยปกป้องกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 2 พันล้านคน ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ
3.เริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้
เช่นเดียวกับการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแก้ไขวิกฤติความหลายหลายทางชีวภาพ ต้องดำเนินการอย่างชาญฉลาด รวดเร็ว และมีหลักการ โดยทำการศึกษาข้อมูลล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการการตัดสินใจที่ดีที่สุด รวมถึงต้องเร่งดำเนินการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
4.สร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติ
ทุกประเทศต้องร่วมมือกันคิดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ครอบคลุมทุกด้าน และมีการผสานงานกันของทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขวิกฤติความหลายหลายทางชีวภาพ ซึ่งร่างกรอบความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (Global Biodiversity Framework post-2020) นั้นยังไม่ดีพอที่จะหยุดการลดลงความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องสร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติฉบับใหม่ ที่มียกระดับการปกป้อง การฟื้นฟู และการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และเพียงพอ โดยยึดถือธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ
หากพวกเราไม่สามารถทำได้ตามนี้ ในอนาคต โลกของเราก็จะค่อยๆมุ่งหน้าไปสู่วิกฤติการณ์ที่จะคุกคามมนุษย์ชาติอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเชื้อโควิด-19
…………..
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.undp.org/content/undp/en/home/blog/2020/applying-the-hard-lessons-of-coronavirus-to-the-biodiversity-cri.html
Category: