ปี 2563 นี้ องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID19 ว่าจะกระทบต่อแรงงานทั่วโลกมากถึง 2,700 ล้านคนทั่วโลก
ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดว่า อาจมีคนตกงานถึง 25 ล้านคน และจะทำให้ประชากรอยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 400-600 ล้านคน
ส่วนปัญหาสภาพแวดล้อมซึ่งถูกทำลายต่อเนื่องมายาวนาน ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ แม้จะมีการพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็ตาม
จากวิกฤติหลายด้านในครั้งนี้ ทำให้การประเมินความสำเร็จเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของยูเอ็น หรือ SDG (Sustainable development goal) อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2573
ล่าสุด บรรดานักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากในและต่างประเทศ ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการรับมือปัญหาเหล่านี้ พร้อมสะท้อนปัญหาท้าทายสำคัญ 4 ประเด็น ในเวทีการเสวนา Thailand business leadership for SDGs 2020 ซึ่งจะขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้
1. ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่
นักธุรกิจเรียกร้องให้ทุกๆสังคม จะต้องมีการปรับตัวหลายมิติ ทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร ส่วนภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจเช่นกัน เพราะตอนนี้เริ่มมีความวิตกกังวลว่า หน่วยงานภาครัฐภาค เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จะสามารถส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนขณะนี้
2. ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงาน
เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมกันของคนในสังคม รวมไปถึงการจ้างงานและดูแลผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีฐานอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจาก COVID19 กันถ้วนหน้า และยังมีการตั้งคำถามว่า หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จะมีระบบการดูแลแรงงานและสวัสดิการต่างๆอย่างไร นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงการเคารพความเสมอภาคทางเพศ
3.ความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม
แม้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน แต่การเกิดโรคระบาดใหญ่ในครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสที่จะได้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้กลับสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเฉพาะความหวังที่จะไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หากไม่สามารถเริ่มต้นได้อย่างจริงจังในเวลานี้ เท่ากับว่าไม่สามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติไว้ได้
4. ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล
อีกประเด็นคือ การดำเนินกิจกรรมทางสังคมและธุรกิจต่างๆ ควรส่งเสริมให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้มากขึ้น เพราะระบบธรรมาภิบาลเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสังคมที่ดี เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรธุรกิจได้ ขณะที่ภาคประชาชนและผู้บริโภค เริ่มเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และสามารถตัดสินใจที่จะสนับสนุนธุรกิจใดๆด้วยตัวเองได้มากขึ้น
Category: