ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ การท่องเที่ยวนิเวศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามชุมชนเก่าแก่ ได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสระดับประเทศ

ทำให้แหล่งชุมชนโบราณหลายแห่ง ที่เคยหลบซ่อนตัวมายาวนาน กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างรวดเร็ว

รวมถึง เชียงคาน ชุมชนโบราณอายุหลายร้อยปี ตั้งอยู่ริมแม่น้โขงในจังหวัดเลย มีเบื้องหน้าฝั่งตรงข้ามคือเมืองสานะคามของ สปป.ลาว

เชียงคาน

อีกแห่งคือ ในเวียง อยู่ในจังหวัดน่าน เป็นชุมชนโบราณเช่นกัน แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วิถีชีวิต และความงามของผู้คนพื้นถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี

ในเวียง

ล่าสุด ชื่อเสียงของ เชียงคาน และ ในเวียง โด่งดังขึ้นไปอีกขั้น เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอด เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนติดอันดับโลก ถือเป็นครั้งแรกที่ชุมชนเก่าแก่ของไทย สามารถขึ้นแท่น สุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับนานาชาติ หรือ Sustainable Destinations TOP 100

อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนได้ จะต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมาก่อน สำหรับสองเมืองนี้ได้โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC มาเป็นแนวทางหลัก ควบคู่กับแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการเน้นเรื่อง ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ความสะอาด ความเสมอภาคเป็นธรรม และความยั่งยืนของชุมชมโดยรวม

จากความพยายามดังกล่าว ทำให้หน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ประกาศให้รางวัลสำหรับปีนี้

สำหรับเกณฑ์การตัดสินว่าจะติด Top 100 ได้หรือไม่ เขาจะพิจารณาจาก การดำเนินการตามเกณฑ์บังคับ 30 ข้อ และคะแนนจากการนำเสนอ Good Practice Story

โดยในส่วนของ Good Practice Story จะต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องมีเรื่องราวโดดเด่น สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้ เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมหรือพัฒนาแนวคิดใหม่เดิมให้เกิดความยั่งยืน

อาจกล่าวได้ว่า แหล่งท่องเที่ยวไหนจะมีความยั่งยืน ตัวเมืองหรือชุมชนนั้น ๆ จะต้องเป็นเมืองที่มีคุณภาพมากพอ หมายความว่าจะต้องสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าคุณภาพ เพราะจะช่วยกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่นได้

นอกจากนี้ ชุมชนนั้น ๆ จะต้องมีการปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิตของตัวเอง รวมถึงสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนรู้สึกสบายใจ ชุมชนและชาวบ้านก็สบายใจด้วย

สำหรับความสำเร็จของ เชียงคานและในเวียง เกิดจากการทุ่มเท 4 ด้าน คือ การบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงความปลอดภัย, ด้านสังคม-เศรษฐกิจ ที่ต้องเติบโตไปพร้อมกัน, ด้านวัฒนธรรม มีความงดงามในแบบวิถีชีวิตและมีคุณค่าของการสืบสาน และการดูแล ฟื้นฟู และรักษาสิ่งแวดล้อม

รู้อย่างนี้แล้ว ไปเยือนเชียงคานหรือในเวียงครั้งต่อไป ก็คงต้องปรับจูนกันอีกสักนิด ไปแบบนักท่องเที่ยวคุณภาพ ช่วยดูและรักษาความสะอาด ช่วยอนุรักษณ์ของดีประจำถิ่น และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อยู่กับเราไปนาน ๆ

 


Category:

Passion in this story