ในปี 2562 พวกเราได้เห็นความเคลื่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการลดโลกร้อน เกิดขึ้นทั้งในไทย และต่างประเทศ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนทั่วโลกมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และเชื่อว่ากระแสดังกล่าวคงดำเนินต่อเนื่องไปยังปีหน้า และปีต่อๆ ไป ซึ่งเนื่องในโอกาสส่งท้ายปีใหม่นี้ ผู้เขียนจึงกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเด่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ซักหน่อย โดยขอเริ่มจากในบ้านเรากันก่อน
ลดขยะพลาสติก
นอกจากเรื่องของฝุ่นแล้ว อีกสิ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นก็คือ ผลกระทบของขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่มีข่าวลบต่างๆ เกี่ยวกับขยะพลาสติกออกมา อย่างเช่น ข่าวการเสียชีวิตของ “มาเรียม” ลูกพยูนตัวน้อย ที่เมื่อทำการผ่าศพหาสาเหตุการตายแล้วก็พบว่าภายในลำไส้ของมีถุงพลาสติกอุดตันอยู่มากมาย ซึ่งคาดว่ามันกินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร และข่าวการตายของกวางป่า ใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน ซึ่งในท้องมีถุงพลาสติก ซองกาแฟ ซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงมือยาง ไปจนถึงกางเกงในชาย รวมกันอยู่กว่า 7 กก.
ในขณะเดียวกัน ปีนี้รัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินการลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยปราศจากพลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2564 ด้วยการขอความร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อลดการให้ และลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเหล่าผู้ประกอบการเป็นอย่างดี พวกเรามักจะได้ยินพนักงานของร้านสะดวกซื้อถามทุกครั้งว่าจะเราจะรับถุงหรือไม่ ส่วนตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็มีนโยบายงดให้ถุงพลาสติกในบางวัน ส่วนร้านอาหาร และคาเฟ่หลายแห่งก็เลิกใช้หลอดพลาสติก และเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษ เป็นต้น ผลของนโยบายนี้
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองไทย เมื่อห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เริ่มงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตามนโยบายของ ทส. ส่วนภาคส่วนอื่นๆ ก็จะให้ทยอยปรับตัวเลิกใช้ตาม โดยตั้งเป้าว่าทั่วประเทศจะต้องปลอดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในวันที่ 1 ม.ค. 2564
การแบนถุงพลาสติกนี้แม้จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน แต่หลายๆ ฝ่ายออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากนโยบายนี้ อย่างเช่น สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย (TPIA) ที่มองว่าการแบนถุงพลาสติกจะสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้างให้กับผู้ประกอบการในอตุสาหกรรมพลาสติกของไทย รวมไปถึงเหล่าลูกจ้างที่อาจตกงานหากธุรกิจปิดกิจการ โดยทางสมาคมฯ ต้องการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้แจงว่า จะมีวิธีการเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยบางส่วนก็เป็นกังวลว่าการห้ามแจกถุงพลาสติก จะทำให้ลูกค้าไม่เข้ามาซื้อของในร้านของตน เนื่องจากไม่สะดวกจะถือของกลับด้วยมือเปล่า ส่วนคนทั่วไปส่วนหนึ่งก็เห็นว่าพลาสติกจริงๆ ไม่ได้ผิด สิ่งที่ต้องแก้ก็คือจิตสำนึกของคนไทยที่ชอบมักง่ายทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ และบนพื้นดินต่างหาก
ปัญหาฝุ่น PM 2.5
ในปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีการตื่นตัวต่อปัญหาด้านสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ตัวเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งในบางช่วงมีปริมาณมากจนสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้หลายๆ คนต้องไปหาหน้ากาก N95 มาใส่เพื่อป้องกันตัวเอง ส่วนทางสังคมมีการยกเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์
การประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศ
เราไปดูที่สถานการณ์ในต่างประเทศกันบ้าง ในปีนี้ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ การประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศ (Global Climate Strike) และการนัดหยุดเรียนเพื่อภูมิอากาศ (School strike for climate) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายครั้งตลอดทั้งปี นำโดยเหล่าเยาวชนจากหลายประเทศทั่วโลก โดยบุคคลผู้จุดกระแสการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวก็คือ เกรธา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงวัยรุ่นจากประเทศสวีเดน
การประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน 2562 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากถึงราวๆ 6 ล้านคน จากมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก พากันหยุดเรียน-หยุดทำงาน ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศหามาตรการเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยการประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศรอบนี้จงใจจัดให้ชนกับ การประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2019 (United Nations Climate Action Summit 2019) ในวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา
สู้โลกร้อนด้วย COP
อีกกระใหญ่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศคือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP25 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปนโดย ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ขัดเจน และท้าทายขึ้นมาเสนอในการประชุมปีหน้า (COP26) เพื่อยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ภายใน ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ให้สำเร็จตามเป้าหมายของสนธิสัญญาปารีสที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 2015
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าผิดหวังเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ก็คือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเช่น สหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดกลับไม่เห็นด้วยกับการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญในการประชุมอย่างการกำหนดตลาดคาร์บอนก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และถูกเลื่อนออกไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
หยุดก๊าซเรือนกระจก 30 เมืองใหญ่
ปิดท้ายกันด้วยด้วยข่าวดีชิ้นนี้ เป็นเรื่องของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของโลก ได้คำนวณเอาไว้ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องผ่านจุดสูงสุดภายในปี 2020 และรายงานเผยแพร่ระบุว่าปัจจุบัน 30 เมืองใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งมีประชากรรวมกว่า 58 ล้านคน สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้แล้ว โดยรายชื่อของเมืองทั้ง 30 เมือง นั้นก็ได้แก่ ออสติน, บอสตัน, ชิคาโก, ลอสแอนเจลิส, นิวออร์ลีนส์, นิวยอร์กซิตี, ฟิลาเดลเฟีย, พอร์ตแลนด์, ซานฟรานซิสโก, วอชิงตัน ดี.ซี. (ประเทศสหรัฐอเมริกา), เอเธนส์ (ประเทศกรีซ), บาร์เซโลนา, มาดริด (ประเทศสเปน), เบอร์ลิน, ไฮเดิลแบร์ค (ประเทศเยอรมนี), โคเปนเฮเกน (ประเทศเดนมาร์ก), ลิสบอน (ประเทศโปรตุเกส), ลอนดอน (ประเทศอังกฤษ), เมลเบิร์น, ซิดนีย์ (ประเทศออสเตรเลีย), มิลาน, โรม, เวนิส (ประเทศอิตาลี), มอนทรีออล, โตรอนโต, แวนคูเวอร์ (ประเทศแคนาดา), ออสโล (ประเทศนอร์เวย์), ปารีส (ประเทศฝรั่งเศส), สตอกโฮล์ม (ประเทศสวีเดน) และวอร์ซอ (ประเทศโปแลนด์)
นี่ถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับความพยายามในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ถ้ากรุงเทพฯ ของเราสามารถทำได้อย่าง 30 เมืองที่กล่าวมาก็คงจะดีไม่น้อย
Category: