ชื่อของ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี กำลังได้รับความสนใจจากสังคมโลก ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังกระแสการหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อประท้วง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก” โดยนักเรียนหนุ่ม-สาวทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศหามาตรการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างจริงจัง ภายใต้การรณรงค์ที่ชื่อว่า #FridaysForFuture ซึ่งผลงานนี้ทำให้เธอได้รับการยกย่องจาก นิตยสารไทม์ (TIME) ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดประจำปี 2019
เดือนกันยายนที่ผ่านมา ธันเบิร์ก ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (UN Climate Action Summit 2019) ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งสุนทรพจน์ของเธอมีเนื้อหาที่ทั้งหนักแน่น และตรงไปตรงมา
โดยเฉพาะกับประโยคเด็ดอย่าง “How DARE you?” ซึ่งเธอบอกไปยังเหล่าผู้นำโลกในที่ประชุมว่า พวกเขาได้ขโมยอนาคตของเธอไป ด้วยการสนใจแต่จะหาเงินเข้ากระเป๋า แทนที่จะหันมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุอย่างชัดเจนถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
การกล่าวสุนทรพจน์ของเธอ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางจากสังคม เธอได้เสียงชื่นชมว่าเป็นคนกล้าหาญที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหล่าผู้นำโลกอย่างตรงไปตรงมา และมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
- เกรตา ธันเบิร์ก ได้รับเสนอชื่อเข้าชิง รางวัลโนเบลสันติภาพ ประจำปี 2019 แต่น่าเสียดายที่เธอพลาดรางวัลนี้ไป โดยรางวัลได้ตกไปเป็นของ นายกรัฐมนตรีอาบี อาห์เหม็ด (Abiy Ahmed) จากประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขความขัดแย้งที่ดำเนินมานานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอริเทรีย (Eritrea)
- ดร.ไมเคิล ดาร์บี (Michael Darby) นักวิทยาศาตร์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน ได้ออกมาประกาศว่า เขาจะตั้งชื่อด้วงสายพันธ์ขนาดเล็กว่า Nelloptodes gretae เพื่อเป็นการยกย่อง เกรตา ธันเบิร์ก ที่ออกมาเคลิ่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแก่สังคมโลก
- คณะมนตรีนอร์ดิก (Nordic Council) ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วยประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน และ 3 เขตปกครองตนเองในสังกัดของประเทศเหล่านั้น ได้เสนอชื่อของ เกรตา ธันเบิร์ก ให้เข้ารับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental award) ประจำปี 2019 แต่เธอปฏิเสธที่จะรับรางวัล และเงินรางวัล โดยให้เหตุผลว่า การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลอะไรอีกแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการจริงๆ ก็คือ อยากให้นักการเมือง และผู้มีอำนาจทั้งหลายหันมาสนใจหันมารับฟังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดบ้าง
แม้ธันเบิร์กจะได้รับเสียงชื่นชมมากมาย ก็มีเสียงวิจารณ์เธอในแง่ท่าทีก้าวร้าวและความน่าสงสัยของข้อมูลที่เธอกล่าวอ้างเช่นกัน บางเสียงโดยเฉพาะจากนักการเมืองบางคน กลุ่มธุรกิจบางราย และสื่อบางสำนัก รุนแรงถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่า พยายาม “โจมตี” ให้เธอหมดความน่าเชื่อถือ แม้กระทั่งในประเด็นจุกจิกประเภทหน้าตา บุคลิกและวิธีการพูด
หากแม้จะถูกโจมตีมากแค่ไหน ธันเบิร์กก็ไม่รู้สึกย่อท้อแม่แต่น้อย เธอสงสัยด้วยซ้ำว่าทำไมพวก “ผู้ใหญ่” ถึงพยายามเบี่ยงประเด็นมาโจมตีตัวเธอ แทนที่จะเอาเวลาไปใส่ใจกับเรื่องสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่เธอพยายามจะสื่อสารกับพวกเขา เธอย้ำเสมอว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่ความคิดเห็น
เส้นทางการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของ เกรตา ธันเบิร์ก ยังคงอีกยาวไกล น่าสนใจว่าสาวน้อยคนนี้จะมีความเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิงจาก time climatechangenews theguardian theguardian2 twitter youtube
Category: