ยุคปัจจุบัน มีคำถามยอดฮิตของคนจำนวนมากว่า ระบบทุนนิยมจะเดินหน้าอย่างไรในโลกอนาคต “การแข่งขัน” จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมต่อไปได้อีกหรือไม่ ในเมื่อธุรกิจทั่วโลกของวันนี้ มีแต่การผูกขาดในเกือบทุกอุตสาหกรรม จนแทบจะไม่มีการแข่งขันซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของทุนนิยมเหลืออยู่
ที่สำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มนุษย์เคยนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ก็ดูจะอยู่ในสภาวะเสี่ยงจนน่าวิตก
การที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ “ยักษ์ใหญ่” แสดงความใส่ใจต่ออนาคตที่ดีกว่าของสังคมและโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น
แม้การใส่ใจนี้ จะไม่ได้ตอบคำถามเรื่องอนาคตทุนนิยม และผู้คนต่างยังคงถกเถียงโดยไม่มีข้อสรุปว่า ควรปฏิรูปทุนนิยมอย่างไรให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
การใส่ใจดังกล่าว ก็เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
เรื่องนี้ องค์การระหว่างประเทศอย่าง องค์การสหประชาชาติ (United Nations –UN) ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยโคฟี แอนนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 7 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1997 -2006 ได้ประกาศจัดตั้งโกลบอล คอมแพ็ก แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นโกลบอล คอมแพ็ก (The United Nations Global Compact) ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1999
เพื่อสนับสนุนองค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรเอกชน ให้ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ สอดคล้องกับค่านิยมขององค์การสหประชาชาติ หรืออีกนัยคือ หลัก 10 ประการของ UN Global Compact ที่ครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และ การต่อต้านการทุจริต
เป้าหมายสำคัญของยูเอ็น โกลบอล คอมแพ็ก คือ ความยั่งยืนอย่างแท้จริงของเศรษฐกิจโลก ที่ทุกคน ทุกฝ่าย จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน โกลบอลคอมแพ็กสหประชาชาติ มีสมาชิกประมาณ 130,000 บริษัท จากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก โดยในจำนวนนี้ เป็นสมาชิกจากประเทศไทย 40 บริษัท
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นนายกสมาคมฯ จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2017 เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
โดยมี บัน กี มูน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ คนถัดจากโคฟี แอนนัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็คทั่วโลก รับเชิญมาเป็นประธาน
ในคำกล่าวปาฐกถาของบัน กี มูน เขายืนยันว่า หลักการสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญมากที่องค์กรเอกชนในเครือข่ายต้องร่วมกันผลักดันและปฏิบัติให้เป็นจริง
เขาย้ำว่า ยินดีที่ได้เห็นผู้นำจากองค์กรชั้นนำของภาคเอกชนไทยจำนวนมาก มารวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย และร่วมกันรับภาระอันยิ่งใหญ่ที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานขององค์การสหประชาชาติ ทุกวันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความเสี่ยงหลายประการ แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
ส่วน ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า Partnerships คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อความยั่งยืนของ เครือข่ายฯ ภายใต้ร่มองค์การสหประชาชาติประสบความสำเร็จ
สำหรับการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ คือเน้นการส่งเสริมภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ภายใต้เป้าหมายหลัก 4 ด้านของโกลบอลคอมแพ็ก ผ่านการจัดฝึกอบรมและการจัดสัมมนาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่จะยกระดับการทำธุรกิจอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่วนประเด็นเร่งด่วนของประเทศไทยที่สมาคมฯ กำลังเร่งดำเนินการ คือเรื่องสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่แรงงานเด็ก ไปจนถึงแรงงานต่างชาติ แรงงานสตรี สวัสดิการ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ
สมาคมฯ ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสมาชิกให้ครบ 100 องค์กร ภายในสิ้นปี ค.ศ.2019
ภาพขององค์กรธุรกิจเอกชนยุคใหม่ ที่ก้าวไปพร้อมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่ภาพนายทุนเห็นแก่ตัวที่คิดถึงแต่ผลกำไรสูงสุดของตนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นภาพองค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ในเครือข่ายระดับโลกที่กำลังพัฒนาธุรกิจของตนไปพร้อมๆ กับร่วมพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้นสำหรับทุกคน
สังคมที่คนส่วนใหญ่กินอิ่ม นอนอุ่น มีคุณภาพชีวิตดี มีศักดิ์ศรีมนุษย์ มีงานทำโดยได้รับค่าแรงเหมาะสม มีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจ และมีความสุขตามควร ย่อมเป็นสังคมที่ดีสำหรับการประกอบธุรกิจเช่นกัน
นี่คือเทรนด์โลกที่กำลังเติบโต
Category: