เรื่องราวของหอยมือเสือ สิ่งมีชีวิตที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลัง “ดราม่า” เมื่อไม่นานมานี้ จากกรณีรายการเกาหลี “Law of the Jungle” ออกอากาศทางช่อง SBS ที่มาถ่ายทำในประเทศไทย โดยนักแสดงสาว อี ยอลอึม หนึ่งในผู้ร่วมรายการ ได้จับหอยมือเสือ และนำมาประกอบอาหาร จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง

ล่าสุด รายการโชว์ดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษ โดยระบุว่าไม่รู้กฎหมายสัตว์ป่าของไทย ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ได้แจ้งความเอาผิดผู้เกี่ยวข้องแล้ว

เรื่องคดีความที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมาย แต่ Passion Gen จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “หอยมือเสือ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหอยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สัตว์มหัศจรรย์แห่งท้องทะเลไทย ว่าทำไมจึงได้รับการขึ้นบัญชีเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์” และเราจะอนุรักษ์ “หอยมือเสือ” ให้อยู่คู่ท้องทะเลไทยไปนานๆ ด้วยวิธีใด

 

มหัศจรรย์ชีวิต “หอยมือเสือ”

หอยมือเสือ (Giant Clam) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกมอลลัสกา (Phylum Mollusca) ในกลุ่มหอยสองฝา (Bivalvia, Polycepods) ที่จัดอยู่ในครอบครัว (Family) Tridacnidae จำแนกเป็น 2 สกุล คือ Tridacna และ Hippopus

หอยมือเสือมีความมหัศจรรย์แตกต่างจากหอยชนิดอื่นหลากหลายประการ โดยเฉพาะลักษณะของเพศและการสืบพันธุ์ กล่าวคือ หอยมือเสือเป็นสัตว์ที่มีสองเพศแบบ Simultaneous hermaphrodite นั่นเอง

เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หอยมือเสือจะเป็นเพศผู้ แต่หลังจากนั้นจะมีการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ที่เป็นเพศเมีย การผสมพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปีในบริเวณทะเลเขตร้อน ส่วนในเขตอบอุ่น หอยมือเสือจะสืบพันธุ์เฉพาะช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

ที่น่าสนใจมากคือลักษณะการสืบพันธุ์ของหอยมือเสือ ซึ่งมีวิธีป้องกันการผสมกันเองของไข่และสเปิร์มจากหอยมือเสือตัวเดียวกัน โดยน้ำเชื้อจะถูกพ่นออกมาอย่างรุนแรงผ่านช่องน้ำออก (Excurrent aperture) หลังจากนั้นอีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงปล่อยไข่ออกมา ซึ่งเมื่อหอยมือเสือตัวอื่นเกิดปฏิกิริยารับรู้ว่ามีไข่ในน้ำทะเล ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาโดยธรรมชาติ

การปล่อยน้ำเชื้อและไข่ของหอยมือเสือในบริเวณใกล้เคียงกัน จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

ความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของหอยมือเสือคือ หอยมือเสือมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับสาหร่ายซูแซนแทลลี่ (Zoozanthellae) กล่าวคือ สาหร่ายจะอาศัยของเสีย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรท ฟอสเฟต และธาตุอาหารอื่นๆ จากหอยมือเสือ เพื่อนำมาใช้ในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหา

ส่วนหอยก็จะได้รับอาหารบางส่วนจากผลผลิตจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายซูแซนแทลลี่ เช่น ก๊าซออกซิเจน และสารอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล นอกเหนือจากการกินอาหารโดยการกรองสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ลอยอยู่ในมวลน้ำ

รงควัตถุในสาหร่ายซูแซนแทลลี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สีของหอยมือเสือแต่ละตัวมีความหลากหลายแตกต่าง เช่น สีม่วง สีน้ำตาล สีน้ำเงิน หรือสีเขียว เป็นต้น ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดนี้ เรียกว่าความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกัน (Symbiosis) จึงกล่าวได้ว่า แม้หอยมือเสือจะเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังคงพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่าสาหร่ายซูแซนแทลลี่ (Zoozanthellae)  ในการดำรงชีวิต
 

“หอยมือเสือ” ในประเทศไทย

จากข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตการแพร่กระจายของหอยมือเสือชนิดต่างๆ ที่เคยมีรายงานไว้เมื่อปี ค.ศ.1992 (Lucas, 1988; Braley, 1992) ระบุว่า ทะเลไทยมีหอยมือเสือ 5 ชนิด ได้แก่ Tridacna crocea, T. maxima, T. squamosa, T. gigas และ Hippopus hippopus แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ชนิดแรกเท่านั้นที่ยังพบว่ามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับ T. gigas นั้นพบเฉพาะเปลือกที่ตายแล้ว ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และที่เกาะราชาใหญ่ จ. ภูเก็ต โดยแต่ละเปลือกมีขนาดความยาวตั้งแต่ 87-98 ซม. มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม (Kittiwattanawong, 2001) แต่ไม่เคยมีรายงานการพบหอยมือเสือชนิดนี้ในสภาพยังมีชีวิตในทะเลไทย หากการพบเปลือกก็ชี้ว่าในอดีตประเทศไทยเคยมีหอยชนิดนี้อยู่ ซึ่งปัจจุบันอาจหมดไปจากทะเลไทยแล้วก็เป็นได้ ส่วน H. hippopus นั้นไม่มีข้อมูลใดยืนยันว่า เคยมีการพบตัวอย่างในเขตน่านน้ำของไทย

เหตุใด “หอยมือเสือ” เสี่ยงสูญพันธุ์

ในจำนวนหอยมือเสือ 3 ชนิดที่ยังมีอยู่ในทะเลไทยนั้น T. squamosa เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่
ที่สุด และอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ที่สุด เพราะถูกทำลายไปมากที่สุด เนื่องจากดำรงชีวิตเกาะติดโดยไม่ฝังตัวลงในก้อนปะการัง จึงง่ายแก่การถูกจับ ขณะที่อีกสองชนิดจะฝังตัวในก้อนปะการัง

ปัจจุบันจำนวนประชากรหอยมือเสือชนิด T. squamosa ในแหล่งธรรมชาติมีเหลืออยู่ไม่มาก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั้งของไทยและของโลก ในประเด็นการสูญพันธุ์

ปัจจุบัน หอยมือเสือได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered species) ถือเป็นสัตว์คุ้มครองตามอนุสัญญา CITES ซึ่งมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกนับร้อยประเทศเป็นสมาชิก รวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงเป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่า หอยมือเสือเป็นสัตว์คุ้มครอง ซึ่งหากจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ ก็เฉพาะที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง และทางกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้เริ่มมีการเพาะและขยายพันธุ์หอยมือเสือนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา และประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ได้ลูกหอยมือเสือสายพันธุ์ฝั่งทะเลอ่าวไทยรุ่นแรกในปี 2536 จนถึงปัจจุบัน

  หอยมือเสือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปะการัง อีกทั้งผลของภาวะโลกร้อนยังมีผลต่อระดับน้ำทะเล ซึ่งปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ทะเลมีความลึกเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณแสงอาทิตย์ส่องลงไปถึงหอยมือเสือได้น้อยลง และทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งใช้แสงในการสังเคราะห์แสง ได้รับปริมาณแสงที่ลดน้อยลง ซึ่งเมื่อใดก็ตามไม่มีแสงหรือมีแต่มีปริมาณไม่เพียงพอที่จะทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีดำรงชีวิตอยู่ได้ หอยมือเสือที่พึ่งพาอาศัยสาหร่ายซูแซนเทลลีก็ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เช่นกัน

เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ไม่ให้หอยมือเสือสูญพันธุ์ มีหลากหลายแนวทางที่ทุกคนสามารถร่วมกันทำได้

การศึกษา วิจัย เพาะเลี้ยงลูกหอยมือเสือจากโรงเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปล่อยทดแทนในแหล่งธรรมชาติ เป็นหนทางหนึ่งในการอนุรักษ์หอยมือเสือให้คงอยู่  แต่อีกปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก คือมนุษย์ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล ม่รบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยมือเสือ อีกทั้งรักษาคุณภาพของน้ำทะเลให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น

เพื่อธำรงไว้ซึ่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ของชาติสืบไป

Category:

Passion in this story