ที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เกตในประเทศเคนย่า แจกถุงพลาสติกให้แก่ลูกค้าประมาณปีละกว่า 100 ล้านใบ ถุงเหล่านี้นอกจากเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน เพราะมันลอยไปอุดตันระบบระบายน้ำ

สาธารณรัฐเคนยา : Republic of Kenya

 

ที่แย่กว่านั้น คือ ผลการศึกษาและสำรวจของ องค์การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Management Authority – NEMA) ยังพบว่าปศุสัตว์ (เช่น วัว) มากกว่าครึ่งที่อาศัยในเขตตัวเมือง มีเศษถุงพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหาร

หลังจากหลายปีของความพยายามแก้ปัญหา เมื่อ 2 ปีก่อน รัฐบาลของเคนย่าก็ประสบความสำเร็จในการประกาศใช้กฏหมายห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝั่งผู้เสียผลประโยชน์

กฎหมายแบนถุงพลาสติกของเคนย่า มีความเข้มงวดมากๆ เจ้าหน้าที่เอาจริงไม่มีผ่อนผัน และโทษของผู้ฝ่าฝืนผลิต หรือ ลักลอบนำเข้า หรือจัดจำหน่ายถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว คือ

จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้ลักลอบใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วมีโทษปรับขั้นต่ำ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี

ผ่านไปแล้ว 2 ปี สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐของเคนย่าจับ และปรับผู้ฝ่าฝืนหลายครั้ง โดยการลงโทษรุนแรงที่สุด คือ สั่งจำคุกผู้ลักลอบผลิตรายหนึ่งเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกจ่ายเป็นค่าปรับ

รัฐบาลเคนย่าอ้างว่า ความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลนี้เอง ที่ทำให้ปัจจุบัน ชาวเคนย่ามากกว่า 80 %  เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว ขยะถุงพลาสติกบนท้องถนนเริ่มหายไป และการสำรวจล่าสุดเมื่อปีนี้ของ NEMA ก็พบถุงพลาสติกในกระเพาะอาหารของสัตว์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

รวมๆ แล้วจึงถือว่าการแบนถุงพลาสติกประสบผลสำเร็จตามเป้าที่วางหมายที่วางเอาไว้

แต่มีปัญหาใหม่….

นั่นคือ หลังจากประกาศแบนถุงพลาสติกที่ผลิตจาก พอลิเอทีลีน (Polythene) ผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนนำมาใช้แทนคือถุงพลาสติกซึ่งผลิตจาก พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) ซึ่งมีความหนาและทนทานมากกว่า สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

แต่กลับเป็นว่า ปัจจุบันผู้ผลิตถุงพอลิโพรพิลีน ได้เริ่มลดคุณภาพของถุง โดยเพิ่มสัดส่วนของพอลิเอทิลีนเข้าไปมากขึ้น เพราะการขาดแคลนวัสดุสำหรับการผลิต ส่งผลให้ประสิทธิภาพการนำกลับมาใช้ซ้ำของถุงพอลิโพรพีลีน ลดลงไป  ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเคนย่า จึงประกาศแบนถุงแบบพอลิโพรพีลีนไปด้วย จนกว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอย่างชัดเจน

แต่การแบนรอบนี้ถูกต่อต้านอย่างหนัก จนต้องยอมยกเลิกคำสั่งแบน และอนุญาตให้ใช้ถุงพอลิโพรพีลีนมาได้มาจนปัจจุบัน

สมาคมอุตสาหกรรมแห่งเคนย่า (Kenya Association of Manufacturers: Kam) เผยว่าการแบนถุงพลาสติกทำให้ประเทศสูญเสียตำแหน่งงานเป็นจำนวนมาก เพราะบริษัทผู้ผลิตถุงพลาสติกบางรายต้องปิดกิจการ และบางรายก็ต้องย้ายธุรกิจออกไปนอกประเทศ

แต่มองอีกด้าน การแบนถุงพลาสติกก็สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นกัน เมื่อผู้ผลิตถุงพลาสติกที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ ได้เริ่มเปิดสายการผลิตถุงจากวัสดุประเภทอื่นๆ  เช่น ถุงผ้า (Fabric)  ถุงผ้าไม่ทอ หรือ นอนวูฟเวน (Nonwoven) ถุงจากเยื่อกระดาษ (pulp paper) เป็นต้น แต่คุณภาพของถุงเหล่านี้ยังค่อนข้างต่ำเนื่องจากปริมาณของวัสดุที่ใช้ผลิตภายในประเทศมีอยู่น้อย

ยังเป็นเรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

แปล และเรียบเรียงจาก
bbc

Category:

Passion in this story