ภาพจาก www.hypergiant.com

ไฮเปอร์ไจแอนด์ (Hypergiant Industries) บริษัทด้านเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งพัฒนาสินค้า และบริการด้านเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ (A.I.)  เพิ่งเปิดตัวเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) รุ่นใหม่ ชื่อ “Eos Bioreactor”  ซึ่งใช้ สาหร่าย (Algae) สายพันธุ์ Chlorella Vulgaris  ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แล้วนำเข้ากระบวนการแปลงเป็นออกซิเจนกลับคืนสู่ธรรมชาติ

บริษัทคุยด้วยความภูมิใจว่า เพราะสาหร่ายเป็นพืชที่สามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้ดีกว่าต้นไม้ทั่วไปถึง 400 เท่า เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพซึ่งทำงานโดยใช้สาหร่ายเพียง 1 เครื่อง จึงสามารถผลิตออกซิเจนได้มากถึง 2 ตันภายใน 1 ปี เทียบเท่ากับปริมาณออกซิเจนจากป่าไม้บนพื้นที่ขนาด 1 เอเคอร์ (2.53 ไร่) ในช่วงเวลาที่เท่ากันเลยทีเดียว

ภาพจาก www.hypergiant.com

ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์  เครื่อง  ‘Eos Bioreactor’  สามารถประเมินสภาพแวดล้อมรอบๆ เช่น ปริมาณแสงอาทิตย์ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ  และ ค่า PH  ฯลฯ โดยอัตโนมัติ ทั้งยังปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในตัวเครื่องให้เหมาะสมกับสาหร่ายมากที่สุด เพื่อให้สาหร่ายดูดซับคาร์บอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด

ที่น่าสนใจคือ ผลผลิตจาก ‘Eos Bioreactor’  ไม่ได้มีแค่เพียงออกซิเจน เนื่องจากเมื่อสาหร่ายดูดซับคาร์บอนเข้าไป พวกมันจะสร้างสารชีวมวล (Biomass) ออกมาด้วย ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น เช่น ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันดิบ ปุ๋ย  รวมไปถึงเป็นแหล่งอาหารคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นต้น

เบ็น แลมม์ (Ben Lamm) ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Hypergiant Industries ย้ำว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินพอดีในชั้นบรรยากาศ กำลังนำหายนะมาสู่โลก และผลักดันให้มนุษย์หนีออกไปหาดาวดวงใหม่เพื่ออยู่อาศัย

ภาพจาก www.hypergiant.com

“แต่ผมอยากให้มนุษย์เราออกเดินทางไปตั้งถิ่นฐานนอกโลก เพื่อสำรวจและทำความเข้าใจถึงตัวตนของเราเอง แทนที่จะเป็นการเดินทางเพื่อหนีจากดาวบ้านเกิด เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพตัวนี้เป็นความพยายามแรกของเราในการแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่”

‘Eos Bioreactor’ ถูกออกแบบให้ติดตั้งได้อย่างง่ายดายทุกแห่ง ด้วยขนาดตัวเครื่องที่ต้องการพื้นที่เพียง 3 x 3 x 7 ลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น ซึ่งแลมบ์ยืนยันว่าภายในปีนี้ ไฮเปอร์ไจแอนท์จะเผยแพร่แบบแปลนของเครื่องปฏิกรณ์ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้มีคนนำไอเดียไปต่อยอดผลิตเป็นเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดกะทัดรัดกว่านี้อีก สำหรับใช้ในที่พักอาศัย

ระหว่างรอเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ บริษัทแย้มเป็นนัยๆว่า วัสดุหลักในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นี้ เข้าข่าย “รัก” และ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” แท้ๆ เพราะรีไซเคิลมาจากขยะพลาสติกใต้ทะเล


แปล และเรียบเรียงจาก
goodnewsnetwork
hypergiant

 

Category:

Passion in this story