Categories: SUSTAIN

ทำแบบนี้รักโลกรึเปล่า ชวนทุกคนตั้งคำถามกับวิธีการรักษ์โลก

5 / 5 ( 2 votes )

ในยุคที่ใครต่อใครก็ตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม หันไปทางไหนก็เห็นผู้คนหิ้วถุงผ้าถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกกันเต็มไปหมด ร้านค้าร้านกาแฟหลายร้านก็เปลี่ยนมาเสิร์ฟเครื่องดื่มให้ลูกค้าด้วยแก้วกระดาษเคลือบแทนแก้วพลาสติก (แม้แต่ผู้เขียนเองก็ขยาดที่จะใช้หลอดพลาสติกเพราะกลัวน้องเต่าทะเลจะตาย) น่าดีใจแทนโลกใบนี้ที่ในที่สุดมนุษย์ก็หันกลับมาดูแลเอาใจใส่หลังจากทำร้ายเธอมานานนับศตวรรษ

หากเราเดินเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตและซื้อของกินของใช้มาจำนวนหนึ่ง มีทางเลือกอยู่สองทางระหว่างการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษในการหิ้วของพะรุงพะรังเหล่านั้นกลับบ้าน หลายคนที่มีจิตใจรักธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคงจะเลือกใช้ถุงกระดาษ ด้วยคิดว่าถุงกระดาษนั้นน่าจะดีกับสิ่งแวดล้อมากกว่า มันย่อยสลายง่าย รีไซเคิลได้ และมันไม่เคยเข้าไปติดอยู่ในกระเพาะอาหารของพะยูน แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ หรือ

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังทำไม่ใช่การบอกว่าแนวทางที่เรากำลังทำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือให้ล้มเลิกการใช้ถุงกระดาษ แต่ผู้เขียนใคร่อยากชวนผู้อ่านมาตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยแค่ไหนและเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน แม้ว่าในท้ายที่สุดบทความนี้อาจจะไม่ได้ช่วยตอบคำถามอะไรเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยการเริ่มตั้งคำถามก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ ?

เรามักจะเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก “วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แต่แล้วอะไรล่ะ คือ “วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ในเมื่อท้ายที่สุดเราก็ต้องนำมันมาจากสิ่งแวดล้อมอยู่ดี นี่คือสิ่งที่ เลย์ล่า อาคาโรกูล (Leyla Acaroglu) นักออกแบบชาวออสเตรเลีย ได้เสนอไว้บน เวที TEDTalks กับกรอบความคิดที่เรียกว่า “ความเชื่อทางสิ่งแวดล้อม (Environmental beliefs)”

เธอกล่าวว่า เราต้องพึ่งพาความคิดจากสัญชาติญาณของเรา เมื่อต้องทำการตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้ถุงกระดาษหรือรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งเราทำสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

ปัญหาอย่างหนึ่งของความเชื่อทางสิ่งแวดล้อม คือ มันมักจะประกอบจากประสบการณ์ส่วนบุคคล คำบอกเล่าที่เราได้ยินจากคนอื่น ไม่ใช่จากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ความเชื่อทางสิ่งแวดล้อมนี่เองที่ทำให้เราเลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ แม้ในความเป็นจริงมันอาจจะสวนทางกัน เช่น การเลือกใช้แก้วกระดาษแทนแก้วพลาสติก

แก้วกระดาษก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี

หลายต่อหลายคนอาจจะคิดว่าแก้วกระดาษนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแก้วพลาสติก เพราะเป็นกระดาษ มันรีไซเคิลได้ มันย่อยสลายได้ไม่เหมือนกับพลาสติกที่ใช้เวลา 3 ชั่วอายุคนก็ยังไม่ย่อยสลาย

แต่ในความเป็นจริงแล้วแก้วกระดาษที่ใช้ในการดื่มชากาแฟของพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 20 ปี !

และมันยังไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้! เนื่องจากแก้วกระดาษเหล่านี้ต้องเคลือบหุ้มด้วยพลาสติกภายในเพื่อป้องกันการเปื่อยยุ่ยเมื่อสัมผัสกับน้ำ ในแต่ละปีที่สหรัฐฯ มีแก้วกระดาษกว่า “50,000 ล้านใบ” ที่ต้องถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบเพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นั่นเท่ากับต้องใช้น้ำมันปิโตรเลียมถึง 231,000 บาร์เรลต่อปี ในการทำพลาสติกเพื่อหุ้มแก้วกระดาษ ยังไม่นับรวมว่าต้องตัดป่าไม้จำนวนมากในการผลิตกระดาษปริมาณมหาศาลเพื่อทำแก้วกระดาษให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

ทางเลือกที่ 2 ที่ 3 และที่ 4

ในเมื่อเราไม่สามารถใช้พลาสติกได้เพราะมันทำลายโลก แก้วกระดาษก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะใช้อะไรดีล่ะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของเราให้ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ปัจจุบันมีบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นตัวเลือกให้เรา ๆ ท่าน ๆ ผู้ไม่อยากเห็นธรรมชาติต้องถูกทำลายไปมากกว่านี้ได้เลือกใช้กันมากมาย 1 ในนั้น คือ พลาสติกประเภท Biodegradable ที่เป็นวัสดุย่อยสลายกลับไปสู่ธรรมชาติได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ พลาสติกประเภท Compostable พลาสติกประเภทย่อยสลายเร็วเพื่อเป็นอินทรียวัตถุในดิน มาทำเป็นแก้วหรือถุงพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แต่อนิจจา จากรายงานเจาะเทรนด์โลก 2020 โดย TCDC ระบุว่าพลาสติกประเภทเหล่านี้กลับไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการย่อยสลาย

รายงานฉบับนี้ได้อ้างอิง รายงานวิจัย Environmental degradation of biodegradable polyesters ของมหาวิทยาลัยพลีมัท ซึ่งได้รายงานว่าพบเจอถุงพลาสติกหลายชนิดทั้งประเภท Biodegradable, Oxo-Biodegradable และ Compostable ในทะเลเป็นจำนวนมาก และเมื่อนำไปหาค่าอายุของสสารพบว่าพลาสติกเหล่านี้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกเริ่มที่ผลิต แม้ว่ามันจะลอยอยู่ในทะเลมามากกว่า 3 ปีแล้วก็ตาม

การเลือกใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็อาจจะไม่ได้สร้างความมั่นใจให้คนรักษ์โลกอย่างเราได้เท่าไหร่นัก ว่าเราจะไม่ได้เผลอทำร้ายโลกโดยไม่รู้ตัว แล้วยังเหลือตัวเลือกอะไรอีกบ้างที่จะไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นวายร้ายทำลายธรรมชาติ

ที่ประเทศเยอรมนี บริษัท Leaf Republic ได้พัฒนา บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนอย่างเต็มที่ (Fully Sustainable Packaging) ขึ้น ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากใบไม้และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 28 วัน โดย Carolin Fiechter ผู้บริหารบริษัทแห่งนี้กล่าวว่า

พวกเขาใช้เวลากว่า 3 ปี ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน โดยวัตถุดิบในการผลิตนั้นนำเข้ามาจากทวีปอเมริกาใต้และเอเชีย ซึ่งเป็นใบไม้ชนิดพิเศษที่มีเซลลูโลสมากเพียงพอที่จะถูกอัดเป็นรูปร่างได้ และยังคงความเขียวอยู่ แม้จะผ่านกระบวนการอบแห้งแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ พวกเขายังทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอื่น ๆ ในประเทศที่พวกเขานำเข้าวัตถุดิบ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าแรงงานหญิงที่เก็บใบไม้จะได้รับเงินเดือนที่ยุติธรรมและสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับทั้งสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ แม้ว่าบรรจุภัณฑ์นี้จะเป็นจานใส่อาหารไม่ใช่แก้วแต่อย่างใด แต่ก็อาจจะสามารถนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อยอดและทำแก้วที่ทำจากใบไม้ได้ในอนาคต

กระนั้นก็ยังมีการตั้งคำถามว่าการใช้ใบไม้ในการทำบรรจุภัณฑ์ หากได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นทางเลือกหลักแทนแล้ว มันจะก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้นอีกหรือไม่จากการถางพื้นที่ป่า เพื่อสร้างพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ที่จะนำใบมาใช้ในการผลิตและป้อนวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

จริง ๆ แล้วทางเลือกที่ง่ายและมั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อเกิดขยะ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาพลาสติกติดกระเพาะสัตว์น้ำหรือก่อให้เกิดมลพิษกับชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อมจนยากจะเยียวยา คือ การใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ (Reusable Packaging) อย่างถุงผ้า กระป๋องน้ำ แก้วมัค ปิ่นโต หรือบรรจุภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามแต่แทนการใช้ บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Packaging) ซึ่งก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาลจนยากจะจัดการไหวในแต่ละวัน แม้อาจจะสร้างความไม่สะดวกสบายให้กับผู้บริโภคเท่าไหร่ แต่เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มปกป้องธรรมชาติของโลกใบนี้ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรให้เราปกป้องอีกต่อไป

เริ่มต้นที่ตัวเรา

แนวคิดล่าสุดของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในชีวิตประจำวันที่ทำได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย อย่างแนวคิด Zero Waste หรือ ขยะเป็นศูนย์ เป็นแนวความคิดที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่ผลิตขยะเลย ไม่ว่าจะเป็นขยะจากเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ หรือข้าวของในชีวิตต่าง ๆ โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และการดำเนินชีวิตที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดของที่สุดท้ายต้องไปจบลงในกองขยะ เช่น การนำจาน ชาม หรือปิ่นโตไปซื้ออาหารแทนที่จะให้พ่อค้าแม่ขายใส่กล่องโฟมหรือถุงพลาสติก การปฏิเสธรับถุงพลาสติกตามร้านค้าและนำถุงผ้าไปใส่เอง การเลิกใช้หลอดพลาสติก หรือการทานอาหารให้หมดโดยไม่เหลือเป็นเศษอาหารให้ต้องเททิ้ง

ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ในปัจจุบันก็หันมาใส่ใจกับแนวคิดนี้มากขึ้นอย่าง Starbucks ที่มีความตั้งใจจะลดการใช้หลอดพลาสติกและหันไปใช้หลอดกระดาษแทนตามสาขาต่าง ๆ ทั่วโลก ภายในปี 2020 หรือการเกิดขึ้นของร้าน Refill Shoppe ร้านขายของและคาเฟ่กับแนวคิดการลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นร้านทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ในการบริโภค โดยผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์ของตัวเองมาเพื่อเติมสินค้าตามต้องการ เช่น สบู่เหลว ยาสระผม น้ำมัน น้ำปลา ข้าวสาร หรือสามารถซื้อสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และขยะพลาสติกซึ่งเป็นตัวการใหญ่อีกอย่างที่ทำลายธรรมชาติอันแสนสวยงามของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยคือ การที่เราใช้มันอย่างไร ทิ้งมันอย่างไร และจัดการกับขยะอย่างไรโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าเราจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน แต่หากผู้คนมีพฤติกรรมในการบริโภคอย่างไม่รู้จักขอบเขตและไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับขยะที่มาจากการบริโภค ไม่ได้จัดการกับปัญหาที่โครงสร้างของระบบอันเป็นตัวการสำคัญยิ่งกว่าของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เราก็อาจจะทำได้เพียงแค่ยืดระยะเวลาที่ธรรมชาติจะพังทลายลงต่อหน้า และอีกไม่นานที่มนุษยชาติจะต้องสิ้นสูญไปพร้อมกับโลกที่พวกเราไม่เคยเหลียวแล


เรียบเรียงจาก
voicetv
tcdc
worldcentric
ted
thaitribune
mangozero
freshplaza

 

 

 

 

 

 

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.