ในวันที่รูปแบบของการทำธุรกิจในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป เงินทองและความร่ำรวยไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดเพียงอย่างเดียวของการประสบความสำเร็จหากแต่ความสุขในการได้เป็นผู้ให้ได้ร่วมสร้างและสนับสนุนธุรกิจที่ช่วยสร้างอาชีพสร้างโอกาสให้กับผู้คนในสังคมโดยเฉพาะในชุมชนหรือถิ่นบ้านเกิด
เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่มองผลกำไร คือ เงิน+ความสุข มาทำความรู้จักและปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดกับอีกหนึ่งธุรกิจเพื่อสังคมที่เต็มไปด้วยความสุขรอยยิ้มและความงดงามของศิลปะพื้นถิ่นบนผืนผ้าทอมือย้อมคราม กับ เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง เจ้าของธุรกิจ “ภูคราม”
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ภูคราม”
เหมี่ยว – ปิลันธน์ เป็นอดีตนักประวัติศาสตร์ชุมชนที่เรียนและทำงานอยู่ในเมืองหลวงมานาน ตลอดเวลาการทำงานเธอจะต้องเดินทางไปยังหลายจังหวัดลงพื้นที่พูดคุยคลุกคลีกับชาวบ้านจนได้เรียนรู้วิถีชุมชนของจังหวัดต่าง ๆ เธอจึงเริ่มตั้งคำถามกับชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง อ.ภูพาน จ.สกลนคร ที่เธอแทบจะกลายเป็นคนแปลกหน้าของบ้านเกิดตัวเองไปแล้ว ความคิดถึงบ้านและอยากนำความรู้ที่มีไปพัฒนาถิ่นกำเนิดของตัวเอง จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นแบรนด์ภูครามขึ้นมา
“เพราะว่าพื้นที่ทำงานเราคือพื้นที่ภูพาน ชุมชนที่เหมี่ยวอยู่คือที่ภูพาน แล้วก็เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยู่บนภูแล้วเราก็เริ่มต้นที่ภูแล้วเราก็ปลูกครามด้วยนอกจากครามในพื้นที่ แต่ว่าที่เราเริ่มต้นจริงๆคือเรารู้จักครามมาก่อนเราก็เลยตั้งชื่อภูคราม” – เหมี่ยว – ปิลันธน์ เจ้าของธุรกิจแบรนด์ ภูคราม
“ภูคราม” ทุกขั้นตอนคืองาน Handmade จากชุมชน
หากใครคิดว่าผ้าทอย้อมครามหนึ่งผืน ทำวันครึ่งวันก็เสร็จคงต้องบอกให้ไปปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะกว่าจะออกมาเป็นผ้า 1 ผืนของภูครามต้องใช้เวลาในการผลิตนานประมาณ 2 – 3 เดือน เริ่มต้นจากการปลูกฝ้าย รอไร่ครามเติบโต เก็บฝ้ายที่มีและรับซื้อฝ้ายจากบริเวณใกล้เคียงมาเข็นฝ้ายสำหรับทอ ซึ่งอาจผสมฝ้ายจากโรงงานบ้างแต่ก็เพียงเท่าที่จำเป็น ส่วนการย้อมสี ภูครามเลือกใช้สีย้อมธรรมชาติทั้งหมด โดยใช้สีจากธรรมชาติของต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ในพื้นถิ่นไม่ว่าจะเป็นสีจากต้นคราม เปลือกมะม่วง เปลือกประดู่ แก่นต้นเข หรือผลมะเกลือ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บ และปักผ้า
งานผ้าทอมือเป็นงานที่สวยมีคุณค่าก็จริงแต่การจะสร้างแบรนด์ให้มีจุดเด่นและแตกต่างเพื่อเปลี่ยนภาพจำจากผ้าไทยเชย ๆ ที่มีขายตามท้องตลาดมาเป็นของสินค้าร่วมสมัยและไม่ตกเทรนด์ แบรนด์จำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ และคุณเหมี่ยวก็พบเจอกับกิมมิคของแบรนด์ภูครามด้วยความบังเอิญเมื่อวันหนึ่งเธอลองทำงานปักโดยใช้ด้ายฝ้ายเป็นรูปดอกไม้เล็ก ๆ แล้วโพสต์ลง Facebook ซึ่งผู้คนชื่นชอบและให้ผลตอบรับที่ดีจึงคิดนำการปักในรูปแบบของการเล่าเรื่องราวรอบตัวของธรรมชาติรอบตัวมาเป็นดั่งงานศิลปะบนผืนผ้า นอกจากนี้คุณเหมี่ยวยังจ้างช่างตัดเสื้อจากกรุงเทพฯ มาสอนเรื่องแพตเทิร์นและเทคนิคต่าง ๆ โดยเฉพาะเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และสร้างโอกาสให้กับช่างฝีมือดีที่กลับมาอยู่บ้านโดยการรับเข้าทำงาน เพื่อให้การผลิตในทุกขั้นตอนของแบรนด์ภูครามนั้นมาจากชาวภูพานอย่างแท้จริง
มากกว่าแค่สินค้าแต่คืองานศิลป์บนผืนผ้า
การที่ภูครามมีลูกค้ามากมายเข้ามาอุดหนุนและสนับสนุนธุรกิจนี้ก็เพราะผ้าทุกชิ้นของแบรนด์ภูคราม เป็นงานทำมือทุกขั้นตอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการปักลายที่ในช่วงแรกคุณเหมี่ยวต้องจ้างช่างปักมือจากกรุงเทพในการทำชิ้นงานต่าง ๆ จนต่อมาก็ได้ค้นพบช่างปักมือเอกในภูพาน ซึ่งเป็นคุณแม่ลูก 3 ที่อยากหารายได้เสริมขณะที่อยู่กับบ้านเลี้ยงดูลูก ๆ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่เมื่อคนอื่น ๆ เริ่มเห็นว่าการปักผ้าเป็นอีกช่องทางที่สร้างอาชีพมีรายได้ก็เริ่มรับงานปักกันมากขึ้นส่วนหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนรักที่จะทำงานปักนอกจากเรื่องค่าจ้างแล้วเป็นเพราะงานปักของภูครามจะสร้างโอกาสให้ผู้ปักสามารถเสนอไอเดียรูปที่ต้องการปักได้ มีอิสระในการดีไซน์ โดยใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นดอกหญ้าเล็ก ๆ ตามคันนา ดอกไม้ป่า ดอกหญ้าฤดูร้อนหรือเห็ดรูปร่างสวยตามขอนไม้กลางป่าเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปักก็เกิดความภาคภูมิใจในผลงาน และอยากจะพัฒนาผลงานของตัวเองที่เป็นดั่งศิลปะในทุกฝีเข็มออกมาให้ดีที่สุด
แนะนำบทความน่าอ่าน
- พัฒนาแนวคิดผู้นำ – ต้องการสำเร็จต้องคิดอย่างไร
- กลยุธท์สร้างโอกาสทางธุรกิจ – พิชิตเงินล้านไปกับ COCONUT4U
- “โทฟุซัง” น้ำเต้าหู้ร้อยล้าน – สร้างโอกาสรวยจากสิ่งใกล้ตัว
- “HEALTH AT HOME” บริการดูแลผู้สูงอายุ – แบบส่งตรงถึงบ้าน
- โฮมสเตย์ธุรกิจส่วนตัว – ที่สอดรับวิถีไทย
- ก้อง คอฟฟี่ – ความคิดที่กึกก้องภายใต้มุมมองที่สุดขั้ว
ความสำเร็จที่วัดจากรายได้และปริมาณความสุข
ทุกวันนี้ภูครามจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และออกร้านตามตลาดสินค้าดีไซน์ สินค้าออร์แกนิก สินค้าชุมชน งานอีเว้นท์ต่าง ๆ รวมถึงวางจำหน่ายชั่วคราวในห้างสรรพสินค้าที่จัดกิจกรรมสนับสนุนธุรกิจวิถีชุมชนต่าง ๆ และส่งผ้าคลุมไหล่สำหรับกิโมโนไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นหลายครั้งที่ลูกค้าต้องสั่งจองสินค้าของภูครามแล้วรอรอบการผลิตเพราะช่างฝีมือทั้งหลายติดภารกิจหลักคือการทำนา คุณเหมี่ยวเจ้าของธุรกิจบอกว่าเธอเคยคิดอยากเพิ่มกำลังการผลิตให้เยอะ ๆ เพื่อเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า แต่เมื่อกลับมาคำนวณดูว่าหากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะทำให้ความสุขของทุกคนลดน้อยลงนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ภูครามต้องการอย่างแท้จริง
จากจุดเริ่มต้นจนวันนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ที่ภูครามเปลี่ยนให้ผู้คนในชุมชนภูพานแห่งนี้มีรายได้ที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ช่วยให้ผู้หญิงในชุมชนไม่ต้องรอเงินก้อนจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลผลักดันให้พวกเธอพัฒนาตัวเองจนสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้มากขึ้นจากการแบ่งเวลามาทอผ้าหรือปักผ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ชีวิตประจำวัน เก็บเห็ด ดำนา และเลี้ยงลูกได้ตามปกติ เพราะหนึ่งในพันธกิจของภูครามก็คือการสร้างโอกาสให้เกิดรายได้ในชุมชนทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพในถิ่นเกิดของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น ภูครามไม่ได้สร้างอาชีพหลักให้กับคนในชุมชนแต่เป็นการสร้างอาชีพเสริมที่จะทำให้คนในชุมชนได้อยู่กับงานเกษตรของพวกเขาได้อย่างยั่งยืน
แนวคิดผู้นำเพื่อความสำเร็จ
“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าภูครามจะได้เงินมาก ๆ แต่สิ่งที่วางแผนไว้คืออยากจะอยู่กับชุมชนที่ทุกคนมีความสุข มันอาจจะเป็นภาพฝันหน่อย แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เขามีรายได้ เรามีรายได้เราเอื้อกันและกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็เติบโตไปด้วยกันในเชิงพัฒนาคุณภาพชีวิตเราต้องเห็นและเข้าใจจริง ๆ ว่าชุมชนต้องการอะไรไม่ใช่แค่เราคนเดียวในเมื่อเราลงมือทำกับชุมชนแล้วเราทิ้งเรื่องนี้ไม่ได้” – เหมี่ยว – ปิลันธน์ เจ้าของธุรกิจแบรนด์ ภูคราม