(ประมวลความรู้จากกิจกรรม TEDxBangkok Adventures 2018 A Simple Guide to Zero-Waste Living วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561)
ถ้าคุณคิดว่ารู้จักขยะดี ลองแยกขยะชิ้นนี้กัน
“แก้วชานมไข่มุกกินไม่หมดครึ่งแก้ว มีน้ำชาและไข่มุกนอนแอ้งแม้งพร้อมฝาปิด”
มีถังขยะอยู่ 4 ถัง ได้แก่ ถังขยะเปียก ถังขยะทั่วไป ถังขยะอันตราย ถังขยะรีไซเคิล
ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก อยากรู้เฉลยเหรอ ถ้างั้นก็ต้องอ่านบทความนี้แล้วล่ะ !
“ขยะ” น่ะ ละเอียดอ่อนกว่าที่คุณเข้าใจมาก
ทำไมขยะละเอียดอ่อนกว่าที่คุณคิด
ความละเอียดอ่อนของขยะได้รับการแจกแจงตั้งแต่วิทยากรคนแรกของเราขึ้นพูด อาจารย์ ดร. ปเนต มโนมัยวิบูลย์ จากกลุ่มวิจัย CEWT ม. แม่ฟ้าหลวง ที่ตั้งคำถามที่ใครหลายคนในห้องไม่กล้าตอบ “zero waste – เป็นไปได้มั้ย” ตอนนี้เราใช้ชีวิตกันแบบ
อาจารย์พาเราไปดูประเทศต้นแบบแห่งการแยกขยะของโลก “สวีเดน” สถานที่ซึ่งอาจารย์เรียนจบปริญญาเอกสาขาสิ่งแวดล้อม 99% ของขยะครัวเรือนของประเทศสวีเดนได้รับการนำมาใช้ประโยชน์ด้วยหลากหลายวิธี 50% ของทั้งหมดนั้นได้รับการเผาให้เป็นพลังงาน ที่เขาทำอย่างนั้นได้อาจพอสรุปได้อย่างลวกๆ ว่ามี 3 ปัจจัยหลัก 1) คนแยกขยะอย่างละเอียดและขมักเขม่น 2) ขยะไม่ใช่ของที่ทิ้งได้อย่างไร้ราคา บางเมืองสวีเดนไปไกลถึงขนาดจะทิ้งขยะต้องกดรหัสประจำตัวก่อนจะทิ้งขยะเพื่อให้ระบุตัวตน (เอากะเขาสิ) แถมปีๆ หนึ่งครัวเรือนจ่ายค่า “ทิ้ง” ขยะ สำหรับบ้านเดี่ยวถึง 7,421 บาท และ คอนโดถึง 4,741 บาท มิหนำซ้ำเครื่องอุปโภคบริโภคหลายอย่างเช่น ขวดและกระป๋อง มีค่า “มัดจำ” ที่ต้องจ่ายตั้งแต่ตอนซื้อ ซึ่งจะได้คืนก็ต่อเมื่อขวดเปล่ากระป๋องเปล่าไปคืนที่ตู้ (ลองดูที่รูป 1 และ 3) ระบบเตาเผาที่เผาที่มีระบบบำบัดและควบคุมมลพิษอย่างดีที่มูลค่าการลงทุนสูงหลายพันล้าน (บาท)
ช้าก่อน! ก่อนจะโมโหโกรธาว่าสวีเดนก็ทำได้สิ ประเทศมีเงิน จะเอาไทยไปเปรียบได้ยังไง เปรียบได้นะเออ… แม้ว่าเราจะมีเตาเผาสู้สวีเดนไม่ได้ (ดูได้จากรูปด้านบน) แต่ว่าบางหมู่บ้านที่ อาจารย์ปเนตไปลงพื้นที่สามารถแยกขยะได้จริงเกือบ 80 – 90% ก่อนที่ขยะที่เหลือจะหลุดลอดไปสู่เตาเผาให้เทศบาล หรือ อบต.ทำลาย
ทีมอาจารย์ทำได้อย่างไร? ทีมอาจารย์ทำได้ด้วยความเข้าใจขั้นแรกสุดก่อนว่า ขยะแต่ละที่ แต่ละแห่งในโลกมันไม่เหมือนกัน เชียงรายก็มีคาแรกเตอร์ของเสียเป็นของตัวเองและมีคาแรกเตอร์พื้นที่เป็นของตัวเอง ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรแบบเรา ของเสียลำดับหนึ่งมักเป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหารหรือพวกของเสียที่ย่อยสลายได้ ซึ่งถ้ากำจัดของเสียนัมเบอร์วันปัญหาก็เบาลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว สำหรับหมู่บ้านในเชียงราย อาจารย์ปเนตแนะนำสิ่งนี้ที่เรียกว่า “เสวียน” (เอาจริงๆ สารภาพตามตรงเกิดมาผู้เขียนเพิ่งเคยเห็น) และ “ถังกินแกง” ที่ใช้ในการหมักให้ของเสียย่อยสลายได้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งพอได้ปุ๋ยมา ชาวบ้านสวนใหญ่ในเชียงรายก็มีพื้นที่มากพอที่จะนำปุ๋ยไปใช้กับผืนดินที่ตัวเองมี เวียนอย่างนี้ไม่รู้จบ
ซึ่งแน่นอน นี่อาจจะไม่เข้าทีเลยสำหรับมนุษย์คอนโดในกรุงเทพ คุณอาจจะย่อยเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ แต่ปุ๋ยคุณอาจไม่มีที่ไป ดังนั้น ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาเรื่องขยะคำตอบเดียวตายตัว มันจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามคาแรกเตอร์ของเมืองและขยะที่เมืองผลิต เราอาจจะต้องตามโมเดลเมืองอย่างไทเป (ไต้หวัน) หรือโซล (เกาหลีใต้) แทน เพราะคนที่อยู่อาศัยก็เป็นมนุษย์คอนโดเหมือนกรุงเทพฯ เขาแยกขยะอินทรีย์เหมือนในเชียงราย แต่เมืองมีระบบจัดการให้มันไปอยู่ในที่ทางที่ควรจะเป็น
ดังนั้นถ้าเกิดเป็นคนเมืองก็ต้องอาศัยระบบการจัดการช่วย ซึ่งการจัดการนี้อาจจะแบ่งได้เป็นสองส่วน 1) การแยกขยะต้องเริ่มจากตัวเรา 2) ส่วนกลางจะต้องมีระบบที่ช่วยเราแยก ตอนนี้ปัญหาโลกแตก คือ คนทิ้งคิดว่าแยกไปเขาก็เอาไปรวม ส่วนคนแยกก็คิดว่าคนทิ้งมันก็คงรวมๆ มา ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง (รวมทั้งเป็นความเข้าใจของผู้เขียน) ที่มีต่อส่วนกลางต่างๆ รวมทั้ง กทม.คือ ความคิดที่ว่าเขาไม่แยกขยะ
“จริงๆ คนบนรถขยะเขาแยกนะครับ” อาจารย์บอกอย่างหนักแน่น
แต่ถ้าปัญหาว่าคุณทิ้งทุกอย่างรวมกันลงในถังหนึ่งใบ ถังนั้นจะกลายเป็นขยะที่เรียกว่า “ขยะทั่วไป” ซึ่งทำอะไรไม่ได้ นอกจากถูกส่งไป Landfill เท่านั้น ฝังกลบอย่างเดียว ใช้การอะไรไม่ได้ หรือ อาจถูกส่งไปเผา
ส่วนของ “การแยกขยะเริ่มที่ตัวเรา” นั้นจะอธิบายผ่านกิจกรรมช่วงบ่ายที่ทีมงาน TEDx ให้ทำ แต่สำหรับส่วนกลางที่เข้ามาช่วยเหลือนั้น อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังถึงตัวอย่างในอำเภอแม่จัน เทศบาลตำบลสันทราย(เนื้อหาส่วนนี้มาจากการสัมภาษณ์นอกรอบ) ซึ่งเป็นเขตสุขาภิบาลเก่าที่มีความเป็นเมืองค่อนข้างมากที่แม้จะมีรถเก็บขยะเพียงไม่กี่คัน แต่มีวิธีเก็บขยะที่สร้างสรรค์มาก นั่นคือ การแยกเก็บประเภทขยะตามวัน สมมุติ วันจันทร์เก็บขยะเปียก วันอังคารขยะอันตราย วันพุธขยะรีไซเคิล ฯลฯ ไล่ไป ช่วงแรกๆ อาจจะมีคนไม่สะดวก แต่ต่อๆ ไปพอเข้าใจกลไก การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพก็เกิด ของอย่างนี้มันฝึกกันได้
สรุป เมืองไร้ขยะเป็นไปได้ไหม ขอตอบแทนอาจารย์ว่า “ก็อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์” แต่ถ้าสมมุติจัดการได้ถึง 80 – 90% ก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่มากแล้ว
พบกับบทความของวิทยากรท่านต่อไป
https://www.passiongen.com/2018/12/zero-waste-part-2/
ข้อมูลเมือง Zero Waste ของเชียงรายสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้ https://bit.ly/2Sh9yGT
ที่มา: - สร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะ Chiang Rai Zero Waste (2560) โดย ปเนต มโนมัยวิบูลย์และคณะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) - รูปทั้งหมดมาจากสไลด์นำเสนอของอาจารย์ปเนต
……………………………………………………………
The Author
สุดคนึง บูรณรัชดา
สุดคนึงเป็นนักเสพย์เรื่องเล่า เสพย์ติดเรื่องเล่าทุกประเภทไม่ว่าจะในรูปแบบใด หนังสือ หนัง ละคร เพลง ละครเวที แถมรักการท่องเที่ยวและชอบเรียนหนังสือเอามากๆ ปัจจุบันนอกจากเป็นฟรีแลนซ์งานด้านภาษาแล้ว ยังเรียน ป. โทคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ด้วย
Category: