ปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร และพื้นที่ตามชายขอบในภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ

ประชาชนยังต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต และพื้นที่เหล่านั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 3 ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบหมายภารกิจให้ กอ.รมน. ภาค 3 เข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

โดย กอ.รมน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกล จึงได้ขอรับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2562 รอบ 2 ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภอออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. บ้านพะอัน ต.สบโขง 2. บ้านจกปก ต.แม่ตื่น 3. บ้านห้วยป่าไก่ ต.แม่ตื่น 4. บ้านมูเซอหลังเมือง ต.ม่อนจอง และ 5. ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

จ.ส.ต.พิทักษ์ โกเสือ ครูใหญ่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านมูเซอหลังเมือง ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เขียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ จาก กอ.รมน. ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็จะเป็นด้านการศึกษา นักเรียนได้มีสื่อการเรียน ครูได้ค้นคว้าสื่อการเรียนจากอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนผ่านทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV อีกด้านคือ แสงสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต นักเรียนก็จะได้อ่านหนังสือ และยังได้ไฟฟ้ามาใช้ในชุมชนให้มีแสงสว่างและมีความปลอดภัยมากขึ้น

แม้ว่าไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการให้โอกาสทุกคนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และจากการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ได้เล็งเห็นการเข้าถึงไฟฟ้าของคนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้วันนี้ กอ.รมน. ได้มีโอกาสนำระบบไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าถึงทุกคน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถช่วยกันพัฒนาประเทศให้ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ต่อไป

 

สามารถรับชมวิดีโอการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาพื้นที่ อ.อมก๋อย ได้ด้านล่าง

Category:

Passion in this story