ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ประชาชนจึงต้องเรียนรู้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบมีความรับผิดชอบ ขณะที่เชื้อ COVID-19 ยังส่งผลกระทบทำให้ภาคธุรกิจหยุดชะงัก ขาดรายได้ ขาดเงินหมุนเวียนจนนำไปสู่การลดต้นทุน ลดเงินเดือน และลดพนักงาน

ธนาคารกรุงไทยในฐานะสถาบันการเงินที่มีภาครัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้ดำเนินมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งพนักงานในองค์กรและลูกค้าผู้ใช้บริการ เพื่อนำพาคนทุกกลุ่มฟันฝ่าวิกฤตไวรัสมรณะไปด้วยกัน

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีความห่วงใยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ทั้งกลุ่มลูกค้า พันธมิตร รวมถึงพนักงานของธนาคาร จึงได้ออกมาตรการในการแบ่งเบาภาระลูกค้า โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้และเสริมสภาพคล่อง ขณะเดียวกันก็มีมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสำนักงาน อาคาร สาขาของธนาคาร รวมถึงบูธรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX Booth)

โดยมาตรการที่ช่วยสนับสนุนแบ่งเบาภาระลูกค้านั้น ในส่วนลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคล ธนาคารจะพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสินเชื่อ Home for Cash โดยใช้หลักประกันเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีกับธนาคารได้อีกด้วย

สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่ได้รับผลกระทบ  ธนาคารมีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สูงสุด 12 เดือน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) สูงสุด 6 เดือน โดยดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วนไปแล้วกว่า 200 ราย วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท และจากการสำรวจพบว่า ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่คาดว่าได้รับผลกระทบในครั้งนี้ประมาณ 4,000 ราย ซึ่งธนาคารได้เร่งติดต่อเพื่อให้การช่วยเหลือจำนวน 1,900 ราย และเตรียมสำรวจสุขภาพทางการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงรุกอีกกว่า 2,000 ราย รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 40,000 ล้านบาท

สำหรับลูกค้าผู้ประกอบรายใหญ่ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ โดยลูกค้าธนาคารที่ประสบปัญหาสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่สาขาธนาคาร

นอกจากการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าแล้ว ธนาคารยังมีมาตรการเข้มข้นในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสำนักงาน อาคาร สาขาของธนาคาร และสำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน โดยดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การคัดกรองพนักงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง การขอความร่วมมือให้พนักงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เดินทาง (หรือภรรยาเดินทาง) ไปต่างประเทศก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์กักตัวและทำงานจากที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน รวมถึง การให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิดกับพนักงานทุกระดับ

โดยระหว่างเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วันนั้น พนักงานกรุงไทยสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างสะดวก ผ่านระบบที่ธนาคารออกแบบไว้ โดยล๊อกอินด้วยรหัสเฉพาะรายผ่านระบบ VPN (Virtual Private Network) ที่มีความปลอดภัยสูง พนักงานสามารถทำงานได้เสมือนนั่งอยู่ในธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดผ่านธนบัตร โดยประกาศหยุดการให้บริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สาขา และปิด FX Booth 53 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งศูนย์ Hotline ให้คำปรึกษากับพนักงาน เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการระวังป้องกัน และแนะนำการป้องกันให้ลูกค้าธนาคารดูแลตัวเองและปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทยได้ยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดภายในองค์กร โดยให้พนักงานทุกคนรายงานสถานะประจำตัวแบบวันต่อวัน ทุกวัน ด้วยตัวเอง ผ่านระบบ Digital ทาง Google Form และ Google Sheet ทั้งพนักงานประจำ พนักงาน Outsource และลูกจ้างประจำหน่วยงาน ซึ่งสะท้อนถึงความทันสมัยและความรวดเร็วในการควบคุมป้องกันของธนาคารกรุงไทย

ในวันนี้ ธนาคารกรุงไทยยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างใกล้ชิด รวมถึงสอบถามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าและธุรกิจ เพื่อที่จะเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที  สำหรับลูกค้าที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สาขา หรือ Hotline Krungthai Contact Center 02-111-1111

Category:

Passion in this story