เมื่อพูดถึงโรงพยาบาล ทุกคนคงคิดถึงสถานที่รักษาโรค บุคลากรทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ  แต่คงไม่ค่อยมีใครนึกถึงภาพที่โรงพยาบาลขาดแคลนสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ในการรักษาพยาบาลอย่างยาและเวชภัณฑ์แน่ ๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงพยาบาลไทยกำลังประสบกับวิกฤตขาดแคลนเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการจัดการเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล ทำให้เห็นถึงผลกระทบของปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการบริหารสินค้าคงคลังที่ขาดสมดุล กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้ร่วมกันเปิดตัว นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” (Smart Medical Supply Platform 2020) ทำให้สามารถบริหารการจัดซื้อ-รับ-กระจายเวชภัณฑ์ และโลจิสติกส์ขนส่งอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งการบริจาคอัจฉริยะ (Smart Donation) และระบบจัดซื้อกลาง โดยนำมาใช้แล้วในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2,641 แห่ง

“ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” ถือเป็นระบบกลางของประเทศครั้งแรก ที่จะช่วยจัดการสินค้าคงคลังเชื่อมโยงครบวงจรตั้งแต่จับคู่ข้อมูลความต้องการ (Demand) กับการจัดซื้อและการผลิต (Supplies) ที่มีประสิทธิภาพ การขนส่งและกระจายเวชภัณฑ์ที่ใช้ตรงกับสต๊อกและทั่วถึง

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ตระหนักว่าต้องจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพรองรับการระบาดและภาวะฉุกเฉินอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาที่สำคัญทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยงานวิจัยต้องใช้ประโยชน์ได้จริงรวมทั้งเป็นงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งโครงการ “ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ วช. เห็นควรสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาในสถาการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เกิดความสมดุลและเป็นไปตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะนำระบบไปใช้บริหารจัดการในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสำหรับสถาการณ์ในอนาคต

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลรวม 2,641 แห่ง แบ่งเป็น รพ.รัฐ 2,253 แห่ง และ รพ. เอกชน 388 แห่ง หลักการทำงานของ “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” จะเริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้า (Supply) ที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางหรือของบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซด์ ตามรายการสินค้าในระบบฐานข้อมูล (Product Catalogue Database) การจัดสรรมีหลักการพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนและปัจจัยต่างๆ ของการระบาด และสถานการณ์โรงพยาบาลเอง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้ว่าการจัดสรรจากงบส่วนกลางหรือของบริจาคจะไปสู่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนและตรงกับความต้องการตามสถานการณ์จริง  ข้อมูลจะไหลเข้าระบบสต๊อก หรือสินค้าคงคลังเสมือน (Virtual Stock) ระบบจะวิเคราะห์และจัดสรรสต๊อก กับความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) ความต้องการของโรงพยาบาลในระบบนี้ มาจากข้อมูลที่โรงพยาบาลกรอกเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นนำมาผ่าน Algorithm ในการจับคู่ Match โดยพิจารณาถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ และอัตราการใช้ ระดับความรุนแรง เป็นต้น จากนั้นเมื่อประมวลผลเสร็จสิ้น จะทำให้ได้ใบรายการที่ต้องจัดสรรทั้งหมด ว่าต้องจัดสรรอะไร กระจายไปที่ใด จำนวนเท่าไร และส่งไประบบขนส่งแล้วกระจายต่อไป

นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทรีบิวชั่น จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังระบบติดตามการจัดส่ง (Tracking) โดยเชื่อมกับระบบบริหารจัดการของบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด โดยไปรษณีย์ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศจะเป็นผู้ไปรับสินค้าตามสถานที่ที่ระบุในใบงานและขนส่งไปยังโรงพยาบาลเป้าหมาย และเมื่อเวชภัณฑ์ได้กระจายไปถึงโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ระบบจะบันทึกและส่งข้อมูล Feedback ให้กับต้นทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามสถานะการขนส่งผ่านระบบได้อีกด้วย โดย Platform ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องโรงพยาบาลได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามความต้องการ หรือแม้กระทั่งการกระจุกตัวของสินค้า และระบบยังช่วยทำให้สินค้าไม่ต้องขนส่งเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อบริหารจัดการการขนส่งและกระจายสินค้าอีกครั้ง ส่งผลให้สินค้าสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้บริจาคหรือหน่วยงานส่วนกลางและโรงพยาบาลยังสามารถตรวจสอบได้ว่าในระบบมีสินค้าอะไร กำลังกระจายไปที่ไหน และคงเหลืออีกเท่าไหร่ เพื่อให้สินค้าสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่มีความต้องการตามคุณภาพและความต้องการจริงอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ข้อมูลจะมีการเชื่อมโยงประมวลผล เพื่อแสดงสถานการณ์ของประเทศได้ รวมถึงช่วยในการวางแผนการผลิตและจัดซื้อในอนาคตได้

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของ “ระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศสำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ (Product Catalogue Database) สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบโต้สถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การใช้เวชภัณฑ์, จำนวนสต๊อกของเวชภัณฑ์ในประเทศไทย รวมไปถึงการคาดคะเนปริมาณความต้องการในการใช้เวชภัณฑ์ในอนาคตได้ ด้านกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดต้นทุนด้านสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการการกระจายเวชภัณฑ์ด้วยระบบ Matching บนสถานการณ์และข้อมูลที่แท้จริง สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ จะได้รับสินค้าตรงตามต้องการจริงในเวลาที่รวดเร็ว ลดภาระต้นทุนในการมีสต๊อกเวชภัณฑ์ที่ขาดหรือเกินความต้องการ ด้านผู้จัดหาผลิตภัณฑ์สามารถวางแผนบริหารจัดการการผลิตเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องขนส่งสินค้าเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถกระจายสินค้าไปยังโรงพยาบาลที่ต้องการโดยตรงได้ทันที ส่วนผู้บริจาคสามารถบริจาคเวชภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของโรงพยาบาลและจำนวนจริง ผ่านทางการตรวจสอบข้อมูลในระบบ สามารถตรวจสอบและติดตามการกระจายสินค้าที่บริจาคไปยังโรงพยาบาลที่มีความต้องการจริงได้

Category:

Passion in this story