นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน การประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนรวม  998 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” ว่าการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ควรสอดคล้องกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในและรากฐาน

โดยมุ่งเน้น “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมย้ำว่าทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ

“วิกฤตนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัว อย่างยั่งยืนเพื่อเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาวะโลกร้อน การกำจัดขยะในทะเล และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหากเราไม่บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายกฯ กล่าว

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

โกลบอลคอมแพ็ก  ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ทั้งในไทยและทุกประเทศที่บริษัทสมาชิกเราลงทุน

ในวิกฤต COVID-19 ที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกคนทุ่มเทสรรพกําลังให้ช่วงเวลาสิบปีข้างหน้า จากปีนี้จนถึงปี 2573 เป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทําอย่างจริงจัง” หรือ “Decade of Action” ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เราเคยปฏิบัติก่อนวิกฤติ COVID-19 เพื่อให้เราสามารถฟื้นตัวได้ดีและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

พร้อมกันนี้  องค์กรสมาชิกได้แสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ในสนธิสัญญาภาคีพันธมิตร โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งมั่นนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียให้เดินหน้าไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

และประกาศการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573  รวมจํานวน 998 โครงการ เป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท  อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่ม ปตท. กลุ่มมิตรผล แพรนด้ากรุ๊ป และบริษัทสมาชิกอื่น ๆ อีกด้วย

Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator – UNRC) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDGs โดยต้องร่วมมือกันใน 3 เรื่องสำคัญ

ประการแรก คือ การสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่สอง การสร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประการที่สาม การสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ในฐานะองค์กรสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดของ SGDs และหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งเป็นความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าในระยะยาวมากกว่าผลกำไรระยะสั้น ได้เดินหน้าสร้างความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เพื่อลดปริมาณพลาสติกที่เป็นของเสีย และนำมารีไซเคิลสร้างคุณค่าได้อีก

 

โดยตั้งเป้าหมายที่จะลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรีไซเคิล PET หลังการบริโภค จำนวน 750,000 ตัน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์สยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะลงทุนด้านความยั่งยืนรวม 1 พันล้านบาท ในโครงการต่าง ๆ ประมาณ 45 โครงการ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573


Passion in this story