เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ (สอป.) ได้จัดงานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ครั้งที่ 1/ 2566 เพื่อแสดงถึงความพร้อมของภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ New S Curve ที่ 12 ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

.

อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญแห่งอนาคตที่ประเทศไทย กำหนดเป้าหมายให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S Curve ที่มีส่วนสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ปีละกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีงบประมาณในการจัดหายุทธภัณฑ์ปีละหลายล้านล้านบาท จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศในการพัฒนายุทธภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ซึ่งเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศของไทยนั้น มีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ไม่แพ้ประเทศชั้นนำ

พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์

พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อการป้องกันประเทศ (สอป.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมสนับสนุน โดยในส่วนของต้นน้ำนั้นภาครัฐมีแนวทางในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องความมั่นคง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  แต่สิ่งที่ต้องสนับสนุนกับคือ ด้นากลางน้ำของอุตสาหกรรม ซึ่งการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดได้นั้น จะต้องมีกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างแท้จริง เช่น  การส่งเสริมการลงทุน การจัดเก็บภาษี การสนับสนุนการเงิน การศึกษาวิจัย การขึ้นบัญชีนวัตกรรม และการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์

.

ที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งเน้นการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงวกับความต้องการ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งผลให้เอกชนไม่เกิดการวิจัยและพัฒนา ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศไม่แข็งแกร่ง หากภาครัฐต้องการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหนึ่งใน New S Curve จริง ควรจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากเอกชนในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้ เกิดการพัฒนา เกิดการวิจัย ทำให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้น สามารถส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศได้ ซึ่งเป็นทางออกในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

 

ชัยเสรี

ดร.นพรัตน์ กุลหิรัญ รองประธาน บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด หรือ มาดามรถถัง กล่าวว่า ชัยเสรี ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2511 จากการรับซ่อมยานยนต์ให้กับกองทัพ กระทั่งปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ และรถหุ้มเกราะที่มีการส่งออกไปยัง 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างประเทศยอมรับในด้านคุณภาพของสินค้าจากประเทศไทย ดังนั้นภาครัฐควรจะมีบทบาทในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ผลักดันให้เกิดการใช้งานภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการอ้างอิงที่ดีให้กับภาคเอกชนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ และภาครัฐควรจะผลักดันในการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคกับภาคอุตสาหกรรม เช่น เรื่องภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ กฎหมายควบคุมในการผลิต และการส่งออก ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวมากขึ้น

.

อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพสูง แต่ที่ผ่านมายังขาดการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามการผลักดันให้ อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นหนึ่งใน News S Curve นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังต้องอาศัยการผลักดันและความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะการผลักดันที่สำคัญจากภาครัฐ

Passion in this story