การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับทิศทางในการดูแลสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจบริการสุขภาพน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

          โรงพยาบาลเอกชัย เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การบริหารของ  นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร ประธานกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการโรงพยาบาล บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน)

Passion gen จึงขอโอกาสเข้าพบและสัมภาษณ์พูดคุยถึงวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจมาให้นักลงทุนและผู้ที่สนใจได้ฟัง

อำนาจ เอื้ออารีมิตร

อยากให้คุณหมอแนะนำตัว

ผมหมออำนาจ เอื้ออารีมิตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรงพยาบาลเอกชัย และเป็นกรรมการบริหาร บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) ด้วย บริษัทนี้เปิดมาได้ 15 ปีและกำลังก้าวสู่ปีที่ 16

บริษัท เอกชัยการแพทย์ ก็จะมีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชัย บริษัท EKI-IVF ทำเรื่องผู้มีบุตรยาก มีสาขาตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 9 และบริษัทที่สาม EKN ย่อมาจาก Ekachai Nursing Home เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง รักษาผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเลย คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี  2565

จุดกำเนิดของ EKH

ผมเป็นสูติแพทย์ ทำงานเกี่ยกวับการคลอดมาเยอะ วันหนึ่งเราคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ดีกว่านั้น และคิดอยู่เสมอว่าถ้ามีโรงพยาบาลเองจะทำแบบนั้นแบบนี้ ประกอบกับที่จังหวัดนี้ เดิมทีมีโรงพยาบาลเอกชนเพียงแห่งเดียว ผมคิดว่าน่าจะมีอีกสักแห่ง และในเวลาเดียวกันนั้น มีนายทุนที่รู้จักกับพี่ชาย สนิทกัน อยากจะลงทุนอะไรสักอย่าง เสนอโปรเจกต์ไป เขาสนใจมากเป็นเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะมาทำโรงพยาบาลเอกชัย

อำนาจ เอื้ออารีมิตร

อยากเห็นอะไรจาก EKH

ตั้งแต่เริ่มต้นที่เราลงไปมาถึงขณะนี้ก็เป็นไปตามคาดหมาย เป็นไปตามฝัน แต่สุดท้ายจริง ๆ ความเป็นโรงพยาบาลที่ผมอยากได้คือ โรงพยาบาลที่พร้อมทั้งหมดอยู่ในที่เดียวกัน เรียกว่าเป็นโรงพยาลระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) คือเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ต้องส่งคนไข้ให้ใครแล้ว ทุก ๆ โรคเราสามารถรักษาได้หมด ซึ่งจะก้าวสู่จุดนั้นได้ต้องอาศัยบุคลากรที่พร้อมจริง ๆ ถ้าไม่พร้อมจริงเราไม่เสี่ยง เพราะโรงพยาบาลเราเอาคนไข้ไปเสี่ยงไม่ได้เลย ฉะนั้นอะไรที่คิดว่ามีความเสี่ยงเราก็จะส่งไปที่สถาบัน เช่น โรงเรียนแพทย์ ก็จะลดความเสี่ยงของคนไข้

“สุดท้ายนี้ความตั้งใจของเราก็อยากทำเป็นโรงพยาบาลที่คิดว่ามีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจง สามารถดูแลคนไข้ที่นี่ได้เลย ไม่ต้องไปที่ไหน”

การเติบโตในธุรกิจโรงพยาบาล ผมมองว่าเราจะก้าวกระโดดไม่ได้ เพราะการลงทุนในภาคของธุรกิจบริการนี้เครื่องไม้เครื่องมือมีราคาสูงมาก บุคลากรถ้าเป็นคุณหมอที่มีประสบการณ์สูงไม่มีคนไข้ป้อน เขาก็ไม่อยู่กับเราหรืออยู่ไม่นาน ดังนั้นเราต้องมีการเตรียมความพร้อมว่า เมื่อมีคนไข้มากพอสมควรก็จะเชิญอาจารย์หมอมาอยู่ด้วย แล้วเราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือรองรับทั้งหมด ฉะนั้น ในโรงพยาบาลหนึ่ง จะมีคลินิกหลาย ๆ คลินิก แต่ละแผนกต้องมอนิเตอร์ว่า แผนกนี้โตแล้วนะควรจะต้องขยายแบบนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคอยทำ ปัจจุบันเราเองมี 18 คลินิก เราค่อย ๆ ขยายไปทีละศูนย์ บางศูนย์ขยายในโรงพยาบาลไม่ได้ เราก็ไปขยายข้างนอกเลย

อำนาจ เอื้ออารีมิตร

ศูนย์ที่เติบโตในปัจจุบันเป็นอย่างไร

จากความสำเร็จในการทำศูนย์เด็ก เราก็คิดต่อว่า คุณแม่ส่วนหนึ่งประสบปัญหามีบุตรยาก เราก็ขยายไปอีกศูนย์หนึ่งคือ ศูนย์เด็กหลอดแก้ว ศูนย์ผู้มีบุตรยาก  (EKI-IVF) ช่วงก่อนโควิดมีคนไข้ต่างชาติจำนวนมาก เราจึงเปิดอีกสาขาที่ถนนพระราม 9  ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างมาก คนไทยแถบนี้ที่มีบุตรยากเข้ามาปรึกษาแล้วได้ผล

จาก EKI-IVF ศูนย์ถัดไปทีเราจะดูคือ ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย ตอนนี้วัยของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต่อไปนี้จะเป็นปัญหา อัตราการตายน้อยลง เกิดน้อยลง ผู้สูงอายุ ถ้าวัย 60 ปีขึ้นไป ยังสามารถทำงานได้ แต่ถ้า 65 ปีขึ้นไปเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลแล้ว มีโรคภัยไข้เจ็บเยอะ

ดังนั้น เราจึงตั้งโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีโรคภัยไข้เจ็บ และผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้สูงอายุก็ได้ เช่น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุอะไรบางอย่างแล้วไม่ฟื้นตัวแต่ไม่เสียชีวิต ได้รับความทุกข์ทรมานหลาย ๆ อย่าง เช่น จากการใส่สาย การเจาะโน่นนี่ หรือคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งภาวะทุกข์ทรมานอันนี้เรามีแพทย์เฉพาะทางกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถดูแลคนไข้ไม่ให้ได้รับความทรมานจนกระทั่งเขาสิ้นอายุ

คนไข้หลายยคนที่ได้รับทุกข์ทรมาน บางครั้งเขาอยากจะจบชีวิตตัวเอง แต่ลูกหลานและญาติยังบอกว่าต้องดูแลจนวาระสุดท้าย คุณหมอต้องช่วย คนไข้บางรายป่วยหนักทางการแพทย์วินิจฉัยว่าจะอยู่ได้ 3-4 เดือน คนไข้เองก็อยากจากไปอย่างสงบ แต่ญาติบอกมีเงินสู้เต็มที่ แต่บางครั้งยื้อต่อไปก็ไม่หาย เราจึงเปิดศูนย์นี้ขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เดือนเมษายนปีนี้

วิสัยทัศน์ EKH จะก้าวไปอย่างไร

โรงพยาบาลเอกชัยจะก้าวหน้าต้องก้าวไปทั้งโรงพยาบาล เติบโตในทุกสาขา แผนกที่เติบโตแล้วเราก็จะสนับสนุนให้เติบโตไปเรื่อย บางสาขาที่คิดว่าเริ่มเป็นเทรนด์ เช่น กายภาพบำบัด การฟื้นฟูร่างกายเรา เรามาเห็นชัด ๆ ในช่วงหลังโควิด คนไข้มีเรื่องปอดหายใจไม่สะดวก ต้องทำกายภาพอีกหลายเดือน เพื่อฟื้นฟูปอดที่เป็นแผล ยังมีอีกหลายศูนย์ไม่ว่าจะเป็นกระดูกและข้อ ของเราก็เชี่ยวชาญเรื่องต่ออวัยวะ ต่อนิ้ว ต่อมือ ฉะนั้นทุกศูนย์เราต้องพยายามสนับสนุนผลักดันให้เติบโตเป็นศูนย์ขนาดใหญ่

อยากให้ฝากถึงคนรุ่นใหม่

“คนรุ่นใหม่” คุณต้องรักในสิ่งที่คุณทำ อย่างผมเป็นหมอสูติฯ ผมก็ทำเต็มที่ ทำคลอดแม่และเด็กต้องปลอดภัย พอเราทำได้ดีก็จะสร้างตัวเองได้ สร้างเครดิต สร้างชื่อเสียง เมื่อคนไว้ใจเรา ต่อไปอยากจะขยับขยายก็ทำได้ง่าย  และเด็กรุ่นใหม่อย่ามองไกลจนลืมว่าขณะนี้ตัวเองทำอะไรอยู่ เราทำอะไรก็ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด รักในวิชาชีพที่เราทำแล้วเราจะทำสิ่งนั้นได้ดี ใจเย็น ๆ อย่าก้าวกระโดด อย่าคิดอะไรข้ามขั้นนัก อดทน แล้วรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ทำให้ดีที่สุด

ผมอาจจะเป็นความคิดเก่า ที่ต้องให้ตัวเองมั่นคงให้เครดิตให้เป็นที่น่าเชือถือเสียก่อน ผมเชื่อว่าถ้าคุณไม่มีเครดิตเลย ไม่อดทน ใคร ๆ จะมองว่าคุณจับจด คุณจะทำอะไรสักอย่างคนก็ไม่ค่อยเชื่อถือ คุณก็เกิดยาก ผมมองว่าขอให้อดทน ทำอะไรก็ทำให้ตัวเองดีสุดขณะนั้น แล้วต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพ อันนี้สำคัญมาก

Passion in this story